ภายหลังเกิดกระแสข่าว นายตำรวจระดับสูง อย่าง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่เคยมีแคนดิเดต นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. แต่ต้องมาพลิกล็อกแบบหน้ามือเป็นหลังมือหลังโดนคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หลังมีปัญหาขัดแย้งกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. จน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาหย่าศึก สั่งให้ทั้งสองเข้าไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เหมือนว่าวิบากกรรมของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังไม่หมดไป ต้องมาถูกออกหมายจับคดีเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ต้องหาโดยสมบูรณ์แล้ว ทำให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.(ปป.) รักษาการแทน ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงจะพามาทำความรู้จักกับโทษทางวินัยของข้าราชการตำรวจกันให้ลึกซึ้ง

‘บิ๊กต่าย’ ยันเซ็นจริง! ให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ออกจากราชการไว้ก่อน เหตุผิดวินัยร้ายแรง

โทษทางวินัยมี 7 สถาน ตาม ม.82 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม, กักยาม, กักขัง, ตัดเงินเดือน, ปลดออก และไล่ออก

ทั้งนี้การสั่งพักราชการ หมายถึง การสั่งให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่งระหว่างการสอบสวนพิจารณาทางวินัยหรือ ระหว่างถูกฟ้องคดีอาญา หรือระหว่างต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการ

ความแตกต่างเมื่อออกจากราชการโดยคำสั่ง
คำสั่งไล่ออกจากราชการ
ผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัด ได้ไล่สมาชิกออกจากราชการ เนื่องจากมีความผิดทางวินัยร้ายแรง โดยผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ ยังคงได้รับเงินสะสม  เงินสมทบ และผลประโยชน์ จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

คำสั่งให้ออกจากราชการ
การถูกให้ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุว่า ข้าราชการผู้นั้นตาย, พ้นจากราชการด้วยบำเหน็จบำนาญ, ลาออกจากราชการ และได้รับอนุญาตให้ลาออก, ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง 

คำสั่งปลดออกจากราชการ
ผู้ที่ถูกปลดออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการ ซึ่งเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

สิทธิในการได้รับเงินชดเชย
กรณีถูกให้ออก หรือปลดออก ผู้ที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว จะยังได้รับสิทธิและเงิน โดยมีเงื่อนไขแบ่งตามอายุการรับราชการ ดังนี้

อายุราชการไม่ถึง 10 ปี ผู้นั้นยังคงได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จาก กบข. แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ

อายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี ผู้นั้นจะได้รับเงินบำเหน็จ, เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จาก กบข. และจะได้รับเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง

อายุราชการ 25 ปีขึ้นไป สามารถเลือกได้ระหว่างรับเงิน บำเหน็จ หรือบำนาญ โดยแบ่งเป็นเงื่อนไขย่อย คือ หากเลือกเงินบำนาญ ผู้นั้นจะได้รับเงินประเดิม (ถ้ามี) พร้อมด้วยเงินชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จาก กบข. และจะได้รับเงินบำนาญจากกระทรวงการคลัง

กรณีเลือกเงินบำเหน็จ ผู้นั้นจะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จาก กบข. และจะได้รับเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ บำเหน็จคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนสุดท้าย ส่วนบำนาญคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย นั่นคือ กรณีบำนาญ นับอายุราชการสูงสุดที่ 35 ปี