สำหรับประวัติของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ชื่อเล่น โจ๊ก เกิดวันที่ 29 ต.ค.2513 จบมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหาวชิราวุธปริญญาตรี จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 47 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 31 ปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย , ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล

-‘บิ๊กต่าย’ ยันเซ็นจริง! ให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ออกจากราชการไว้ก่อน เหตุผิดวินัยร้ายแรง

ส่วนเส้นทางการทำงานของ “บิ๊กโจ๊ก” เริ่มรับราชการติดยศ “ร.ต.ต.” เป็น รอง สารวัตร ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2537 รองสารวัตรประจำ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รอง สว.ประจำ รร.นรต.), รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม(รอง สวส.สน.หนองแขม), รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองสมุทรสาคร(รอง สว.สอบสวน สภ.อ.เมืองสมุทรสาคร), ผู้ช่วยนายเวร(สบ1)ผู้บัญขาการตำรวจภูธรภาค.3, ผู้ช่วยนายเวร.(สบ1)ผู้บัญขาการตำรวจภูธรภาค7, รองสารวัตรงาน 5 กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค7(รอง สว.งาน5 กก.สส.ภ.7), สารวัตร.(นิติกรด้านพิจารณาทัณฑ์) กองวินัย., สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจทางหลวง(สว.ส.ทล.4 กก.5 ทล.) สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ( สว.ส.ทล.2 กก.3 ทล.), ผู้ช่วย นว.(สบ3) นรป.(สบ11), ผู้ช่วย นว.(สบ3) ประจำ สง.ผบ.ตร., ผกก.ประจำ สง.ผบ.ตร.(ทนท.อก.ประจำ ผู้ช่วย ผบ.ตร.), ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ผกก.3 บก.ปคม.),ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการตำรวจสอบสวนกลาง (ผกก.ฝอ.10 บก.อก.บช.ก)., ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ผกก.สภ.หาดใหญ่ จว.สงขลา), รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา), รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(รองผบก.สปพ)., ผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร.), ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ผบก.ทท.), ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.สปพ.), รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รองผบช.ทท.), ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ผบช.สตม.), ที่ปรึกษา (สบ9) ตร., ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานสืบสวน อีกทั้งเป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื่อเพลิง (ศปนม.ตร.), ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.)

พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นที่กล่าวถึงเนื่องจากเป็น รอง สารวัตร 6 ปี 1 เดือน ได้ขึ้นเป็นสารวัตร และเป็นสารวัตรได้ 4 ปี 8 เดือน ขยับเป็นรองผู้กำกับการอยู่ 4 ปี จากนั้นขยับเป็นผู้กำกับการ ติดยศ “พ.ต.อ.” ได้เป็น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพักเกรดเอ โดยขณะนั้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เป็นผู้กำกับการอยู่ได้ 4 ปี 1 เดือน จึงขยับเป็นรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ได้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา และยังเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สงขลา ส่วนหน้า ดูแลพื้นที่ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา จ.สงขลา 4 อำเภอพื้นที่สีแดงในพื้นที่ต่อเนื่องจังหวัดชายแดนใต้ การอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับสิทธินับอายุราชการแบบทวีคูณ แม้อายุยังน้อย แต่อายุงานเพิ่มความอาวุโส ทำให้ก้าวขึ้นเป็น “พล.ต.ต.” ขณะอายุไม่ถึง 45 ปี

23 ก.ค. 2558 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ได้เป็นผู้บังคับการ ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรี ในยุคของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยทำหน้าที่นายตำรวจประสานงานใกล้ชิด บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลรับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในปี 2558

กระทั่งปี 2559 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ขยับขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 และปี 2560 ซึ่งอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 76 ได้รับการเสนอชื่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และโยกมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และในที่สุดขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นผู้บัญชาการอายุน้อย ติดยศ “พล.ต.ท.” ด้วยวัยเพียง 48 ปี เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสีกากี ด้วยบุคลิกที่พูดจาฉะฉาน ยิ้มตลอดเวลา จนได้ฉายา “โจ๊กหวานเจี๊ยบ”

“บิ๊กโจ๊ก” กลายเป็นนายตำรวจหนุ่มเนื้อหอมและถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะในวงการรู้ดีว่าเป็นผู้ใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” และบทบาทหน้าที่ค่อนข้างโดดเด่น แต่เส้นทางบนถนนสีกากีต้องมาสะดุดลง โดยเมื่อ 6 เม.ย. 2562 ถูกคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม

กระทั่ง วันที่ 9 เม.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สบ 9 ขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. ตามลำดับ จนได้รับการขนานนามว่า “แมว 9 ชีวิต”

ต่อมา วันที่ 20 มี.ค.2567 มีข่าวความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรตำรวจเสียหาย จน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เรียกทั้งสองเข้ามาหารือเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในแวดวงตำรวจ ก่อนมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.(ปป.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร.

จากนั้นความขัดแย้งยังไม่จบสิ้น กระทั่งปรากฏข่าว ศาลออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กระทั่งวันที่ 2 เม.ย.2567เจ้าตัวพบกับ พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย และ พ.ต.อ.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ นายตำรวจใกล้ชิด บิ๊กโจ๊ก หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) โดยทั้งหมดมีสีหน้าเคร่งเครียดไม่ตอบคำถามใดๆ กับสื่อมวลชน กระทั่งมีข่าวว่าจะเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็เปลี่ยนใจกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

ล่าสุดช่วงบ่ายวันที่ 18 เม.ย.2567 มีกระแสข่าวลือสะพัดมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนหนาหูขึ้น ต่อมาช่วงเย็น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยัน เป็นผู้เซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และตำรวจอีก 4 นายให้ออกราชการไว้ก่อนจริง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ จนถูกดำเนินคดีอาญาและศาลอาญาออกหมายจับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน จึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯให้ออกราชการไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย.