วันที่ 19 เม.ย. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 3 ว่า  ดีอี ได้หารือกับ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หลังพบมิจฉาชีพใช้บัญชีม้าในการโอนเงินที่หลอกลวงเหยื่อ แปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ Crypto แบบ P2P (Peer to Peer) ที่ผิดกฎหมาย ออกไปนอกประเทศ มากกว่า 70-80%  โดยทาง ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวมายังดีอี เพื่อเสนอต่อศาล ในการสั่งปิดการเข้าถึงแพลตฟอร์ม

“หากได้รับข้อมูลจาก ก.ล.ต. ทางกระทรวงจะดำเนินการในทันที ยอมรับว่า แพลตฟอร์มทั้งสอง มีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่หากไม่มาขออนุญาตที่ถูกต้อง ซึ่งหากศาลมีคำสั่งปิด อาจจะมีระยะเวลาในการให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มในการเตรียมตัวโยกย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์ก่อน โดยเฉพาะผู้ใช้งานและนักลงทุนทั่วไป”

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. จะมีการกล่าวโทษตามกฎหมาย และ จะทำการปิดแพลตฟอร์มเหล่านั้นภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เพราะถือเป็นแพลตฟอร์มเถื่อน ในเบื้อต้นทาง ก.ล.ต. ได้ตรวจพบแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 2 ราย  และได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว เตรียมจะยื่นข้อมูลให้ทางดีอี เพื่อเสนอศาลมีคำสั่งปิด สำหรับเรื่องการหลอกลงทุน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การทำสแกม อเลิร์ต รับแจ้งเบาะแส และทำการปิดเพจ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ชักชวนลงทุนแบบผิดกฎหมายใน 24 ชั่วโมง โดยประสานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียต่างๆ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมาตรการที่สำคัญ คือ ให้เร่งรัดกวาดล้างบัญชีที่ต้องสงสัยและบัญชีม้าในระบบธนาคาร โดย สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งทำการตรวจสอบเหตุต้องสงสัย 19 ข้อ และทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยระหว่างธนาคาร จากฐานข้อมูลกลาง เพื่อระบุและทำการระงับบัญชีธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมามีการระงับไปแล้ว 3-4 แสนบัญชี  โดยผ่านมาสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปิดบัญชีม้าไปแล้ว 318,298 บัญชี และศูนย์ เอโอซี (AOC)  ระงับหรือปิดไปแล้ว 112,699 บัญชี

ขณะเดียวกันจะมีการเพิ่มมาตรการควบคุมการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย โดยเพิ่มการตรวจสอบ CDD (Customer Due Diligence) เป็นการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า โดยมีกระบวนการประเมินและบริหารความเสี่ยง  และสอบถามว่าเปิดบัญชีเพื่อใช้ทำอะไรก่อนอนุมัติเปิดบัญชีลูกค้า

รวมทั้งทำการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินจากการทําธุรกรรมของลูกค้าใหม่ จากเดิมที่มีการทำ kyc (Know Your Customer) ในการเปิดบัญชีใหม่เท่านั้น นอกจากนี้จะมีการขยายเวลาระงับบัญชีจากเดิมระงับบัญชี 3 วัน ขยายเวลาระงับบัญชีเป็น 7 วัน กรณีผู้เสียหายแจ้งเหตุกับ AOC 1441 และผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์เรียบร้อยแล้ว

พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูล หรือ Anti-Fraud Data Canter ภายใต้ AOC 1441 โดยธนาคารส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า บัญชีต้องสงสัย หรือข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยให้ AOC 1441 โดยทำระบบ Automation เพื่อ AOC นำข้อมูลที่ได้ใช้ AI วิเคราะห์และใช้แก้ปัญหาโจรออนไลน์ต่อไป

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า กสทช. จะเร่งระงับเบอร์ที่ไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 2.5 ล้านเบอร์  ซึ่งที่ผ่านมาได้ระงับซิมต้องสงสัยไปแล้วกว่า 8 แสนหมายเลข นอกจากนี้จะมีการเข้มงวดในการจดทะเบียนซิม ต้องใช้บัตรประชาชน และพาสปอร์ตที่ตรงตัว ในการเปิดซิม ป้องกันปัญหาการสวมรอยใช้พาสปอร์ตชาวต่างชาติ หรือขโมยบัตรประชาชนคนไทย มาเปิดซิมจำนวนมาก ขณะที่การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน จะให้ กระทรวงกลาโหม กสทช. และ สตช. เพื่อปิดกั้น และจับกุมผู้กระทำความผิด

ขณะที่ สตช. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายชัดเจน และบูรณาการแผนฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสืบสวน สอบสวน และขยายผลการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ อย่างต่อเนื่อง  และสุดท้าย จะมีการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลต่อต้านภัยออนไลน์ หรือ Anti-Fraud Data Canter ภายใต้ AOC 1441 เพื่อบูรณาการข้อมูล ทำงานแบบ automation และใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป