นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2567 ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้เปิดรับข้อเสนอให้ทุนใน 4 กรอบนโยบาย ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Manpower) เกษตรดิจิทัล (Digital Agriculture) การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Technology) และการส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) 

ซึ่งในปีนี้มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว จำนวน 509 โครงการ รวมเป็นเงินกว่า 32,168 ล้านบาท สำหรับการเปิดขอรับการจัดสรรเงินกองทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์โครงการ โดยผู้ยื่นขอรับทุนฯ สามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ยื่นขอรับทุนได้ทางระบบยื่นขอรับทุนและติดตามประเมินผลโครงการ https://defund-rt.onde.go.th

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มเติม และรับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญของกองทุนฯ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน กองทุนดีอีได้อนุมัติจัดสรรเงินให้โครงการที่ขอรับทุน ตามมาตรา 26 (1) (2) ไปแล้วทั้งสิ้น 253 โครงการ รวมวงเงินที่จัดสรร กว่า 7,400 ล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 6,800 ล้านบาท หรือกว่า 95%

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในที่ประชุม ได้อนุมัติโครงการตามมาตรา 26 (3) ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) 2. โครงการบริการระบบคลาวด์กลางรัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) และ 3. โครงการประเมินผลกระทบและจัดทำนโยบายรองรับการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ติดตามผลการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในมาตรา 26 (1) (2) (3) (4) ซึ่งเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา และเงินอุดหนุนการดำเนินงานตามภารกิจของ สดช. และ ดีป้า จะเห็นได้ว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากมีการปิดโครงการและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 95% นอกจากนี้ บอร์ดกองทุนดีอียังได้เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนที่ยังมีความล่าช้า เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

ภุชพงค์ โนดไธสง

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบและเห็นชอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทุนหมุนเวียนทั้งด้านการเงินและด้านที่ไม่ใช่การเงิน อาทิ รายงานทางการเงินของกองทุน ประจำปีบัญชี 2566 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะได้นำไปรายงานต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป และการรายงานผลการประเมินของทุนหมุนเวียนปีบัญชี 2566 ซึ่งเบื้องต้นได้คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 3.5841 นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการปรับปรุงการดำเนินงานเกี่ยวกับบริหารงานกองทุนฯ อาทิ องค์ประกอบคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานกองทุนฯ รวมถึงการบริหารงานบุคคลของกองทุนฯ เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีความคล่องตัวต่อไป