เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่บริเวณหาดปากเมง หมู่ 4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง พบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมากถูกคลื่นซัดขึ้นกองเรียงรายตลอดแนวชายหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ลักษณะเป็นวุ้นใส ขนาด 3-5 นิ้ว จากการสอบถาม นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทราบว่า ในช่วงนี้มีรายงานพบแมงกะพรุนชนิดนี้อยู่ในทะเลฝั่งอันดามันพื้นที่ จ.ตรัง-กระบี่ สำหรับแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นแมงกะพรุนที่นำไปทำอาหารได้ ไม่มีอันตรายเหมือนแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ พบมากในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยชาวประมงพื้นบ้านจะออกเรือไปตักแมงกะพรุนสร้างรายได้ตัวละ 5-6 บาท อย่างไรก็ตามเตือนนักท่องเที่ยวที่มีอาการแพ้ง่ายอย่าไปสัมผัสตัวโดยตรงเพราะจะทำให้เกิดระคายเคืองที่ผิวหนังได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบแมงกะพรุนลอดช่องจำนวนมากลอยอยู่และถูกคลื่นซัดขึ้นบริเวณเกาะห้อง หาดผักเบี้ย ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ เช่นกัน นอกจากนี้มีข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่าการพบแมงกะพรุนเยอะมากในช่วงนี้มีที่มาจากปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrofication) หรือ การเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนบลูมอย่างต่อเนื่องในน่านน้ำไทย เนื่องจากมีธาตุอาหารในทะเลจำพวกสารประกอบฟอสฟอรัสและไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก การเพิ่มขึ้นของปริมาณสารอาหารอาจเกิดจากการปล่อยน้ำเสีย หรือการทำเกษตรที่ไหลมาพร้อมกับน้ำจากปากแม่น้ำ หรือเกิดจากปริมาณธาตุอาหารที่ไหลขึ้นมาจากพื้นท้องทะเล.