“ศรวณีย์ สิงห์ทอง” ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. ระบุว่า จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เราเห็นว่าประเด็นเรื่อง Net Zero Emissions ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มลงมือทำ ในแง่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ Green supply chain ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมหรือการหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายโดยมีความมุ่งหมายอยากให้ห่วงโซ่อุปทานมีการปรับตัว เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องมีเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเข้ามาช่วยทำให้เกิดการปรับตัวได้ เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น สิ่งที่ได้จากงานในครั้งนี้จึงช่วยเกิดประโยชน์กับการพัฒนาเชิงระบบของประเทศต่อไป

“ชล บุนนาค” ผู้อำนวยการ SDG Move และ Co-manager เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ขยายความว่า จากการดำเนินการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมกันระหว่าง สอวช. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ SDG Move ได้เป็นมิติของตัวชี้วัด BCG แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1.Sustainability management: หน่วยงานมีการจัดการความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี 2.Value Chain: หน่วยงานมีการผนวกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ Bio, Circular and Green Economy เข้าไปในห่วงโซ่คุณค่าของหน่วยงานตลอด Life Cycle ของสินค้าบริการ

3. Governance: หน่วยงานมีระบบ กลไก นโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดการภายในอื่น ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG 4. Innovation: หน่วยงานมีการใช้และพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ซึ่งแนวทางการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ไปใช้ แบ่งเป็น 1. Self-assessment : ใช้เพื่อการประเมินตนเองของบริษัท 2. Self-Declaration : เป็นวิธีการรับรองมาตรฐานที่อาศัยการดำเนินการภายในของหน่วยงานเจ้าของเกณฑ์ และ 3. Inspection Body และ Certification Body : ควรเป็นการดําเนินงานในระยะหลังจากที่เจ้าของเกณฑ์มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว.