เมื่อวันที่ 29 เม.ย. รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยงานวิจัยส่วนบุคคล ประเด็น “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 4,310 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 8-21 เมษายน 2567 โดยนักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต 127 คน เก็บแบบสอบถามใน 47 จังหวัด

1.ข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่าคนไทยจะได้เงินดิจิทัล 10,000 บาทจากรัฐบาลนี้หรือไม่ ภายในปีนี้ (2567)”

ผลการวิจัยพบว่า (มี 4,298 คนตอบคำถามข้อนี้) ได้ ร้อยละ 21.82 (938 คน), ไม่ได้ ร้อยละ 43.76 (1,881 คน), ไม่สนใจ ร้อยละ 20.43 (878 คน), ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 13.99 (601 คน)

ข้อสังเกตของผู้วิจัย

1.ผู้ตอบว่าจะ “ได้” เงินดิจิทัลภายในปีนี้ มีมากสุดที่ภาคเหนือ ร้อยละ 43.9 รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ร้อยละ 26 แต่ภาคอื่นๆ มีระดับความเชื่อว่าจะได้ที่น้อยกว่าร้อยละ 20

โดยมีคำอธิบายสำคัญ เช่น นายรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจังตลอดกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญเกิดจากแรงต่อต้านภายในระบบราชการและพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ขัดขวางการดำเนินงานตามนโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล

2.ผู้ตอบว่าจะ “ไม่ได้” เงินดิจิทัลภายในปีนี้ มีมากสุดที่สามจังหวัดใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ ร้อยละ 49.2, 47.9, 44.4 ตามลำดับ กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระดับใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 38 น้อยสุดที่ภาคเหนือร้อยละ 23

โดยมีคำอธิบายสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยขาดความน่าเชื่อถือเหมือนกรณีจัดตั้งรัฐบาลกับ “พวกลุง” ระยะเวลานานกว่าครึ่งปีชี้ชัดว่า “ดีแต่พูด”, “พูดไปวันๆ” และเป็นเพียงแค่โครงการที่ใช้เพื่อ “สั่นระดับรักษาคะแนนนิยม”

3.ผู้ตอบว่า “ไม่สนใจ” เงินดิจิทัลนี้ มีมากสุดที่ภาคอีสานร้อยละ 23.8 รองลงมาเป็น กรุงเทพฯ ร้อยละ 21.5 ภาคกลาง ร้อยละ 20.5 ภาคใต้ ร้อยละ 20.2 สามจังหวัดใต้ ร้อยละ 16.2 น้อยที่สุดเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 12.8 โดยมีคำอธิบายสำคัญ เช่น “ได้ก็เอา” และ “ไม่ฝันเฟื่อง”

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 11.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ที่สรุปสาระสำคัญได้ว่า รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลในไตรมาส 4 ปี 2567 อย่างแน่นอน โดยไม่กู้ และจะจ่ายผ่านซูเปอร์แอป ซึ่งการเก็บแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากวันแถลงข่าวเงินดิจิทัลนี้

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

2.ข้อคำถามว่า “ท่านพึงพอใจการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในระดับใด”

ผลการวิจัยพบว่า (มี 4,298 คนตอบคำถามข้อนี้) มากที่สุด ร้อยละ 4.47 (192 คน) , มาก ร้อยละ 7.91 (340 คน), ปานกลาง ร้อยละ 39.74 (1,708 คน), น้อย ร้อยละ 22.94 (986 คน), น้อยที่สุด ร้อยละ 24.94 (1,072 คน)

ข้อสังเกตของผู้วิจัย

1.ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ระดับมาก (ร้อยละ 7.91) และมากที่สุด (ร้อยละ 4.47) รวมกันได้เพียงร้อยละ 12.38 ซึ่งมีน้อยกว่าร้อยละของผู้ที่เชื่อมั่นว่าจะได้เงินดิจิทัลภายในปีนี้ที่มีถึงร้อยละ 21.82 น่าจะเป็นนัยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นได้ว่าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนายเศรษฐากว่าครึ่งปียังไม่เข้าตาประชาชน

2.ส่วนประชาชนที่พึงพอใจต่อการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในระดับน้อย (ร้อยละ 22.94) และน้อยที่สุด (ร้อยละ 24.94) นั้น รวมแล้วมีปริมาณร้อยละที่สูงใกล้เคียงกับประชาชนที่เชื่อว่าจะ “ไม่ได้” เงินดิจิทัลภายในปีนี้ คือร้อยละ 43.76

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ “ธำรงศักดิ์โพล”