เมื่อวันที่ 12 พ.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ยุติธรรม เดินทางมายังศูนย์ราชการจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อพูดคุยสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง โดยมีนายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ จากปัญหาผลกระทบกรณีที่สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) โดยให้ใบเหลืองประเทศไทย เมื่อเดือนเม.ย.58 ปัจจุบันได้ปลดใบเหลืองประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 8 ม.ค.62  ในช่วงของการดำเนินการตามสหภาพยุโรป ประเทศไทยได้ออก พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ฉบับแก้ไข นั้น เกิดผลกระทบให้กับพี่น้องชาวประมงเป็นอย่างมาก จึงยื่นข้อเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะผู้แทนของรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

โดยตัวแทนภาคประมงแสดงความกังวลต่อการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก IUU Fishing ซึ่งวัตถุดิบที่นำเข้ามามีต้นทุนถูกกว่าประเทศที่ดำเนินการตาม IUU อย่างประเทศไทย จึงส่งผลกระทบต่อการทำประมงภายในประเทศ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมอาชีพประมงมากขึ้น ทั้งอาชีพชาวประมง แรงงานประมง อนาคตควรต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชาวประมง เนื่องจากไต้ก๋งเรือปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุกว่า 50 ปี ใกล้จะเกษียณอายุ ขณะที่ไต้ก๋งเรือรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี เพราะไม่มีการส่งเสริม

อีกทั้งติดขัดเรื่องข้อกฎหมายในการประกอบอาชีพด้วย รวมทั้งมีข้อเสนอต่างๆ เช่น ปลาทูที่เป็นปลาผิวน้ำ และจะวางไข่ด้านใต้ของผืนน้ำ จึงอยากให้รัฐบาลห้ามทำประมงแบบอวนจม ในฤดูที่ปลาวางไข่ อยากให้มีแนวปะการังในพื้นที่ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีกมิติหนึ่งด้วย เพราะสมุทรสาคร สามารถเดินทางมาเที่ยวไปกลับจากกรุงเทพฯ ใน 1 วันได้

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลมีความต้องการที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง และมีการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลมุ่งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมง การดูแลชาวประมง ควบคู่กับการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทการทำประมงของไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง และความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งในส่วนของสมาคมประมงสมุทรสงครามได้เสนอความเห็นให้มีคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อเข้ามาติดตามดูแลปัญหา เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงสามารถกลับมาแข่งขันได้ พร้อมทั้งจะพิจารณาทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกำหนดขั้นตอน และเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการทำประมงในไทย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง และกลับให้เป็นเจ้าสมุทรเช่นเดิม

ทางด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาพบชาวประมงสมุทรสาคร ตามคำเชิญของ พ.ต.อ.ทวี โดยได้ร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง จากหลายกลุ่มในพื้นที่สมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง โดยพี่น้องชาวประมง ได้สะท้อนปัญหาต่างๆให้ฟังตั้งแต่ปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะกฎหมาย และจะร่วมหาทางออกให้พี่น้องประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี และนายพงศ์เทพ ได้รับข้อเสนอมาพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1) การเสนอให้กรมประมงซื้อเรือคืน และตั้งงบซื้อเรือคืนอย่างต่อเนื่อง 2) ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ 3) เสนอให้มีการจัดตั้งสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ชาวประมงโดยเร่งด่วน 4) ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่น 5) เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฟื้นการประมงไทย 6) แก้ปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับประมง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงของไทย 7) คืนสิทธิ์เรือประมงที่ถูกตัดสิทธิ์ ตาม IUU และ 8) ใช้งบประมาณการทำแนวปะการังเทียมมาซื้อเรือประมงและทำพิพิธภัณฑ์เรือประมง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นายมงคล สุขเจริญคณา ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี และนายพงศ์เทพ ที่ให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวประมง