นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความเสี่ยงทุเรียนไทยปี 67 และในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า อีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 71 ไทยจะยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก และครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอันดับ 1 ในตลาดจีน แต่มีโอกาสที่ทุเรียนเวียดนามจะแซงหน้าไทยในจีนได้ เนื่องจากทุเรียนไทยมีความเสี่ยงหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ปัญหา หากรัฐบาลแก้ไขได้สำเร็จ ไทยจะยังคงครองแชมป์ของโลกได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จากปี 67 ที่คาดสร้างรายได้ประมาณ 980,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.2% จากปี 66

สำหรับความเสี่ยงทุเรียนไทย ได้แก่ ภัยแล้งและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เพราะไทยปลูกกระจายทุเรียนทั่วประเทศ ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขต คาดการณ์ว่า ใน 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 67-71 หากเกิดภัยแล้งและน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% หรือผลผลิตหายไป 640,000 ตัน จากปกติที่มี 1.4 ล้านตัน เฉพาะปี 67 จะลดลง 42% หรือหายไป 540,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก เพราะปลูกบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 57 ผลผลิตของเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% จาก 270,000 ตัน เป็น 825,000 ตันในปี 66

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนผลิต และต้นทุนการขนส่งสูง โดยเฉลี่ยต้นทุนผลิตไทยเพิ่มขึ้นกิโลกรัม (กก.) ละ 10 บาทต่อปี โดยปี 67 อยู่ที่ กก. ละ 40 บาท เพิ่มจากปี 66 ที่ กก.ละ 30 บาท ส่วนเวียดนาม กก.ละ 19 บาท เพิ่มจาก กก.ละ 15 บาท ต่างกัน กก.ละ 21 บาท และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนต้นทุนค่าขนส่งของไทยก็แพงกว่าเวียดนาม เพราะเวียดนามอยู่ใกล้จีนมากกว่า

ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาขายทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม โดยของไทยปีนี้ เกษตรกรขายได้ กก.ละ 150-180 บาท ราคาขายส่ง ณ ตลาดเจียงหนานของจีน กก.ละ 230-255 บาท และราคาขายปลีกสู่ผู้บริโภคจีน กก.ละ 270-300 บาท ส่วนเวียดนาม เกษตรกรขายได้ กก.ละ 130-157 บาท ตลาดเจียงหนาน กก.ละ 190-220 บาท และขายปลีก กก.ละ 250-270 บาท

“จากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตทุเรียนไทยออกสู่ตลาดล่าช้ามาจนถึงเดือน พ.ค. นี้ และผลผลิตลดลง ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนมากกว่าไทย โดยส่งออกได้ 36,800 ตัน และไทย 17,900 ตัน มูลค่า 5,786 ล้านบาท แต่คาดว่า ทั้งปีนี้ ไทยจะยังคงครองแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีนได้แน่นอน ที่ 808,470 ตัน และเวียดนาม 546,502 ตัน”

ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงจากผลผลิตเกือบ 100% พึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว ไม่กระจายส่งออกไปตลาดอื่น คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน มีการเร่งตัดทุเรียนอ่อน ยังขาดแคลนแรงงานเก็บทุเรียน และล้งจีน (ผู้รวบรวมผลผลิต คัดแยก และส่งออก) ที่มีจำนวนมาก ซึ่งปี 67 มีล้งจีนมากถึง 1,350 ราย เพิ่มขึ้น 665 รายจากปี 66 ที่ 685 ราย ส่วนล้งไทยอยู่ที่ 10 ราย จากปี 66 ที่มี 25 ราย คาดว่า ล้งไทยจะลดลงอีก จากปัญหาเงินทุนและเครือข่ายล้งจีนที่แข็งแกร่งขึ้น โดยปี 67 ที่คาดทุเรียนสร้างรายได้ให้ผู้เกี่ยวข้อง 980,000 ล้านบาทนั้น อยู่ในกลุ่มล้งถึง 236,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นล้งจีนกว่า 70% อยู่ในมือเกษตรกร 221,400 ล้านาท นอกนั้นอยู่ในกลุ่มแรงงาน โลจิสติกส์ ค่าบรรจุภัณฑ์

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ทุเรียน และพืชอื่นๆ มีน้ำอย่างเพียงพอ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงเน้นคุณภาพของทุเรียน เพื่อให้แข่งขันกับผลผลิตของเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพดีขึ้น และในอนาคต อาจเป็นตัวฉุดให้ราคาส่งออกทุเรียนไทยลดลงได้

“รัฐบาลต้องหาวิธีคิดเรื่องการมีแหล่งน้ำ เช่น ในพื้นที่ 10 ไร่ ต้องมีบ่อน้ำหนึ่งบ่อ เพื่อให้น้ำใช้ตลอดปี ซึ่งการขุดบ่อ รัฐอาจช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง หรือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือนำเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 175,000 ล้าน ที่จะแจกเป็นเงินดิจิทัล มาช่วยเหลือหาแหล่งน้ำ จะได้ประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ ยังต้องหาวิธีการลดต้นทุน หาตลาดใหม่ เช่น ตลาดในเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐ ยุโรป ตะวันออก ที่มีคนเอเชียอยู่หนาแน่น”