ในปี 2529 เกิดเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครนระเบิด กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่แม้เวลาผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว ความน่ากลัวและน่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ถูกลืมไปได้ง่ายๆ

เหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิลในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 30 คน และคนในพื้นที่รอบ ๆ อีกหลายพันคนก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ 

ในวันที่ 26 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุการณ์สยอง อันเดร กลูคอฟ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลกำลังอยู่ในช่วงวันหยุด

กลูคอฟ เล่าว่าเขาได้ยินเสียงระเบิดตอนเกิดเหตุ แต่ไม่ได้คิดอะไรมากในตอนแรก เพระเขาพักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปมากกว่า 3 กม. 

แต่ในวันต่อมา เมื่อเขาโทรศัพท์ไปยังห้องควบคุมหน่วยที่ 2 ช่างเทคนิกคนหนึ่งก็บอกเขาว่า ทางโรงงานกำลังเพิ่มกำลังเพื่อทดแทนพลังงานที่สูญเสียไปจากเตาปฏิกรณ์ตัวที่ 4 กลูคอฟ จึงเพิ่งรู้ว่าเกิดความเสียหายขึ้นที่โรงไฟฟ้า

หลังจากนั้น ประชากรในเมืองปรีเปียตก็ต้องอพยพออกไปสู่เมืองเคียฟ แต่ กลูคอฟ ยังคงรั้งอยู่ที่โรงงานอีก 3 วันเพื่อช่วยควบคุมเครื่องปฏิกรณ์อีก 3 ตัวที่เหลือ โดยทำงานคู่กับชายคนหนึ่งที่ต่อมาเป็นคนที่ได้สัมผัส “วัตถุที่อันตรายที่สุดในโลก” ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า “เท้าช้าง” (Elephant’s Foot)

กอร์นีเยฟขณะพบ “เท้าช้าง”

อาร์ตูร์ กอร์นีเยฟ ในวัย 37 ปี ณ เวลานั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา เขามาถึงเชอร์โนบิลหลังจากเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เสียหายจนเกิดการระเบิด เพื่อมาช่วยขนย้ายวัตถุที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอยู่นานถึง 3 ปี

หน้าที่ของเขาคือการชี้ตำแหน่งเชื้อเพลิงและระบุระดับความเข้มข้นของกัมมันตรังสีเพื่อกำหนดเวลาสูงสุดที่คนทำงานสามารถสัมผัสรังสีได้

กอร์นีเยฟ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาและทีมงานเก็บกวาดซากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตอนนั้นคือ “ผู้บุกเบิก” และระบุว่า “เราคือด่านหน้าเสมอ”

ในการเก็บกวาดซากในโรงงานนั้น ทีมของ กอร์นีเยฟ ต้องขนย้ายยูเรเนียมจำนวนเกือบ 200 ตันและวัตถุอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ยังอยู่ในโรงงาน วัตถุเหล่านี้มีความร้อนสูงมากจนกระทั่งทำให้สิ่งที่อยู่รอบข้างละลายไปหมด ตั้งแต่พื้นคอนกรีตไปจนถึงตัวอาคาร 

เมื่อทุกอย่างเย็นตัวลง มันจะดูเหมือนลาวาที่แข็งตัวแล้ว แต่ยังคงเป็นวัตถุอันตราย แค่ยืนใกล้ ๆ ก็ถือว่าอันตรายอย่างมาก อย่าว่าแต่จะต้องแตะต้องสัมผัสเพื่อเก็บกวาดออกไปเลย

กระนั้น กอร์นีเยฟ ก็เล่าว่าพวกเขาต้องใช้มือและพลั่วช่วยเก็บกวาดซากเหล่านี้ให้พ้นทางในเวลานั้น เพื่อเคลียร์พื้นที่

ภาพถ่ายที่กลายเป็นภาพจำของกอร์นีเยฟและมวลสารกัมมันตรังสีที่มีฉายาว่า “เท้าช้าง”

กอร์นีเยฟ กลายเป็นคนดังหลังจากที่เขาโดนถ่ายภาพขณะตัวเขาในชุดป้องกันกำลังนั่งอยู่ตรงหน้า “เท้าช้าง” หรือมวลสารกัมมันตรังสีเข้มข้นในห้องใต้ของหน่วยที่ 4 ในโรงงานเชอร์โนบิล ซึ่งมีขนาดราว 2 เมตรและหนักหลายร้อยตัน ประกอบด้วยคอนกรีต, ทรายและวัสดุซีลปิดอุปกรณ์ที่หลอมเหลวเพราะเชื้อเพลิงจากเตาปฏิกรณ์รั่วไหลออกมา 

เนื่องจากมวลสารนี้มีรูปลักษณ์คล้ายผิวหนังย่น ๆ ของเท้าของช้าง จึงมีชื่อเล่นที่เรียกกันว่า “เท้าช้าง” และถือว่าเป็นวัตถุที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะเป็นวัตถุที่มีกัมมันตรังสีสูงสุดเท่าที่มีคนเคยพบ

ผลกระทบจากปฏิบัติการครั้งนั้นทำให้กอร์นีเยฟป่วยเป็นโรคต้อกระจก รวมทั้งมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เพราะร่างกายของเขาได้รับกัมมันตรังสีในปริมาณมาก จนกระทั่งเขาถูกสั่งห้าม ไม่ให้เข้าไปในโรงงานเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขา

กอร์นีเยฟ ได้รับการยกย่องเพราะเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ออกมาเตือนโลกตะวันตกถึงอันตรายจากรังสีตกค้างในโรงงานเชอร์โนบิล นำมาซึ่งความร่วมมือจากนานาชาติในปี 2538 เพื่อหาทางทำให้พื้นที่ในหน่วยที่ 4 มีความปลอดภัย และนำไปสู่การปิดเตาปฏิกรณ์อีก 2 เครื่องที่เหลือในโรงงานเชอร์โนบิลจนหมดในปี 2543

กอร์นีเยฟในช่วงบั้นปลายของชีวิต

กอร์นีเยฟ ตกเป็นข่าวครั้งสุดท้ายในบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์รัสเซียฉบับหนึ่ง เมื่อปี 2564 หลังจากนั้นก็มีผู้โพสต์ในเว็บไซต์ “เรดดิท” โดยอ้างโพสต์จากเฟซบุ๊กของเพื่อนของผู้เขียนว่า กอร์นีเยฟ เพิ่งเสียชีวิตในวันที่ 28 ต.ค. 2565 ในวัย 73 ปี หลังจากล้มป่วยและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมืองเชร์นิฮิฟในยูเครนเพียงไม่กี่วัน

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, Wikipedia, reddit.com