จากกรณี แฟนเพจเฟซบุ๊ก ระนอง239 ได้โพสต์ภาพปรากฏการณ์แสงประหลาดที่พบเห็นที่พื้นที่ อ.ละอุ่น และ อ.กระบุรี จ.ระนอง โดยได้ระบุว่า “ปรากฏการณ์แสงประหลาดบนพื้นที่พบเห็น ละอุ่น กระบุรี รอผู้รู้มาตอบครับ” ซึ่งทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากต่างพากันสงสัย และเข้ามาสอบถามกันเป็นจำนวนมากนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยระบุว่า “แสงประหลาดที่ระนอง เรียกว่า “Pillars of Light เสาแห่งแสง” ครับ

เมื่อคืนวาน มีรายงานการพบเห็นแสงประหลาดบนท้องฟ้า แถวริมทะเลของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง จากหลายพื้นที่ครับ และมีการถ่ายรูปไว้ด้วยเป็นจำนวนมาก (แปลว่าไม่ใช่ภาพตัดต่อหลอกชาวบ้านแน่นอน) แสงที่เห็น ไม่ใช่ฝนดาวตก ประตู Asgard หรือมนุษย์ต่างดาวบุกโลกอะไร แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถพบเห็นได้เรื่อยๆ แม้จะไม่ค่อยบ่อยก็ตาม ที่เรียกว่า pillars of light (หรือ light pillars) แปลว่า เสาแห่งแสง

ภาพเสาแห่งแสงนี้ เพิ่งจะชนะการประกวดของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โดยถ่ายจากบริเวณเขาแหลมหญ้า ของประเทศไทยเรานี้เอง ในต่างประเทศ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีการพบเห็น pillars of light แบบนี้มาก่อน และเคยเป็นที่แตกตื่นกันก่อนเช่นกัน โดยเรียกกันว่า Lansuk-Lansuk ที่แปลว่า เทียนไข (ดูภาพประกอบ) ซึ่งทางหน่วยงาน PAGASA (Philippine Atmospheric, Geophysical and Astronomical Services Administration) ประเทศฟิลิปปินส์ ได้อธิบายปรากฏการณ์แสงประหลาดนี้ไว้ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทางอุตุนิยมวิทยา ที่เกิดจากผลึกน้ำแข็งในอากาศ สะท้อนแสงของดวงจันทร์

ผู้เชี่ยวชาญของ PAGASA ได้เพิ่มเติมว่า แม้ว่าเมฆชนิดต่างๆ จะสามารถมีผลึกน้ำแข็งอยู่ในเมฆได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมฆทุกชนิดจะสามารถสะท้อนแสง ให้เกิด “แสงในแนวตั้ง” ขึ้นบนท้องฟ้าได้

เสาแห่งแสงนั้นอาจจะปรากฏขึ้นที่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่สภาพแวดล้อมปัจจัยตรงนั้นจะเหมาะสม โดยแสงที่เห็นที่ฟิลิปปินส์ครั้งนั้น ปรากฏขึ้นประมาณ 20-30 นาที เนื่องจากผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆนั้นก็ค่อยๆ สลายตัวไป ทำให้การสะท้อนแสงนั้นค่อยๆ หายไปด้วย หลักการเดียวกันนี้ ก็สามารถจะใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ “จันทร์ทรงกลด” หรือ “halo” ขึ้นได้เช่นกัน”..

ขอบคุณภาพประกอบ : ระนอง239, Jessada Denduangboripant, NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ