ในยุคแรก “ความเสี่ยง” การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรมักจะเกิดจาก NGO หรือนักขับเคลื่อนทางสังคม ที่คอยเปิดประเด็นต่าง ๆ ที่องค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐดำเนินการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน และบางครั้ง NGO และนักวิชาการก็นำข้อมูลมาจากการวิจัย ซึ่งบางครั้งงานวิจัยนั้นก็ได้ทุนจากประเทศที่มี agenda หรือแหล่งทุนมีธงไว้แล้ว ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุมรอบด้าน พอข้อมูลที่ออกมาเอนเอียง ความศรัทธาสังคมก็ลดลง บทบาท NGO และนักวิชาการที่เคยเปิดประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับ “ความไม่ยั่งยืน” ช่วงหลังจะมีเสียงเบาลง ขาดความน่าเชื่อถือ

ในยุคปัจจุบัน “ความเสี่ยง” มีพลังมากขึ้นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ มีนักลงทุนและกองทุนเป็นผู้ผลักดัน ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ความเสี่ยงจึงมีความครอบคลุมมากขึ้น กับมีการรวบรวมข้อมูลมารายงานตามมาตรฐาน มีเครื่องมือที่โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ทำให้ในปัจจุบัน วิชาการจัดการความเสี่ยงและความยั่งยืน (Risk Management and Sustainability) กำลังเป็นวิชาที่มาแรงในวิทยาลัยการจัดการทั่วโลก ซึ่งหลาย ๆ แห่งน้อมนำ “หลักพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9” เรื่อง “ภูมิคุ้มกัน” มาเป็นหัวใจของหลักสูตรนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน “ความเสี่ยง” เกิดจากผลกรรมที่องค์กรต่าง ๆ ไม่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ความหละหลวมในการดำเนินการตามมาตรฐานต่าง ๆ ไม่มีการฝึกซ้อม การจัดการ การติดตาม การประเมินผลที่ได้มาตรฐาน และส่วนใหญ่เกิดจาก “การขาดธรรมาภิบาล” ผลพวงของความเสี่ยงจึงถูกขยายผลมากขึ้น เมื่อมีสื่อมวลชนแข่งกันทำข่าว และใส่ดราม่าให้ข่าวนั้นน่าสนใจ และยิ่งขยายไปไกลอย่างรวดเร็วด้วย Social Media จนบางข่าวเห็นในทุกช่องทางนำเสนอซํ้าแล้วซํ้าอีก จนเป็นไวรัล

ผลกระทบคงไม่พ้นความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ผู้คนที่เดินทางผ่านถนนเส้นพระราม 2 หรือเส้นทางอื่นที่มีการก่อสร้างก็มักจะกลัวคานคอนกรีต หรือวัสดุก่อสร้างหล่นลงมา

หรือบางที่อาจถล่มลงมาทั้งสะพาน คนที่ไปสนามบินก็กังวลเมื่อได้ยินเสียงประกาศ “ระวังสิ้นสุดทางเลื่อน” เพราะกลัวว่าที่ปลายทางสายพานจะกลืนกินขาของเราไป หรือถ้าบาดเจ็บต้องไปโรงพยาบาลก็เกรงว่า นางพยาบาลของโรงพยาบาลบางแห่งจะนำข้อมูลบัตรประชาชนของเราไปขาย ไปทำเรื่องกู้เงินตลาดมืดดังที่เคยได้ฟังจากข่าว ถ้าไม่ไปโรงพยาบาลจะไปสะเดาะเคราะห์ที่วัด ก็เกรงจะเจอหลวงพ่อ หลวงตา หลวงเจ๊ ที่มาอาศัยผ้าเหลืองหากิน ดังที่มีข่าวฉาวอยู่บ่อย ๆ ถ้าไม่เอาเงินไปบริจาค จะเอาเงินไปลงทุน ก็อาจจะไปเจอกับหุ้น กองทุน หุ้นกู้ ที่มี rating น่าเชื่อถือจากตลาดหลักทรัพย์ หลอกเอาเงินไปอีก โดยที่องค์กรจัดการที่มีมาตรฐานสูงและกำกับดูแลยังไม่สามารถควบคุมและจัดการความเสี่ยงนั้นให้ประชาชนได้ ทั้งที่มีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ พอมีเรื่องจะไปแจ้งความร้องเรียนกับตำรวจ ก็ยังมีคดีที่ 2 ผู้นำองค์กรและลิ่วล้อออกมาเล่นละครแฉเส้นเงินทุจริตใต้พรม ที่ทุกคนต่างรับกันอย่างอิ่มเอมมานานจากรุ่นสู่รุ่น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่เรื่องของ “ความเสี่ยง” ซึ่งเกิดจากผลพวงของการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีธรรมาภิบาล แอบซุกความเสี่ยงสะสมไว้ใต้พรมจนล้นทะลักออกมาประจักษ์แก่สายตา และสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ประชาชน ถ้าไม่เร่งปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยเริ่มต้นจาก SDG 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ข้อนี้จะเน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกัน “ความเสี่ยง” และ “หายนะ” ในองค์กรต่าง ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่มีข่าวฉาวเรื่อง “ความเสี่ยง” ติดต่อกันมาหลายเดือน เปลี่ยนเรื่อง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ จนเขย่าเก้าอี้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และทำให้ประชาชนที่อาศัยใกล้โรงงาน ใกล้นิคมอุตสาหกรรมต่างหวาดผวา ไม่เชื่อใจโรงงานต่าง ๆ เกรงว่าวันใดวันหนึ่งจะมีเรื่องใกล้บ้าน เช่น อาจจะมีกากของเสียอุตสาหกรรมถูกขนมาเก็บซ่อนไว้อย่างผิดกฎหมาย อาจจะมีใครมาแอบเผาโรงงานที่เก็บสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ได้กำจัด ซึ่งมีข่าวว่าเผากันบ่อย ยิ่งอากาศร้อน ๆ โรงงานหลายโรงงานที่มีวัตถุไวไฟ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และถ้าเป็นโรงงานพลุ หรือโรงงานวัตถุระเบิดจะเกิดอะไรขึ้น

แม้แต่โรงงานของบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก ก็ยังพลาดสร้างความเสียหายให้แก่ชุมชนเป็นวงกว้าง ในหน้าร้อนเราเผชิญกับไฟไหม้โรงงาน ตอนนี้เริ่มเข้าหน้าฝน วันที่ฝนแรกตกลงมา นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคตะวันออกนํ้าท่วม จนรถบรรทุกผ่านไม่ได้ ไม่อยากคิดเลยว่านํ้านั้นมาจากไหน มาจากบ่อบำบัดนํ้าเสียหรือเปล่า มาจากบริเวณที่เราเก็บกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือเปล่า นํ้าเหล่านั้นปลอดภัยแค่ไหน ไหลไปลงคูคลองแหล่งเก็บนํ้าและทะเลที่ใด ใครจะคอยดูแลและรับผิดชอบต่ออันตรายเหล่านี้ จะพึ่งพาแค่ จป. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ CSR ที่มีใบประกอบวิชาชีพประจำโรงงานคงไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) รายงานว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมปลอดภัย และมีบทเรียนจากความล้มเหลวในอดีตมากมายในเรื่องผลกระทบอุตสาหกรรม ความขัดแย้งกับชุมชน มลพิษในขบวนการการผลิตขยะและของเสียอันตราย จนต้องมีการพัฒนาขบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกมาตรการใหม่ ๆ ของรัฐ การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมที่ทันสมัย รวมถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีส่วนร่วม ที่นักอุตสาหกรรมไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐสามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด หรือสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ได้ สนใจลองติดต่อขอคำปรึกษาและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย.