สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า ก่อนหน้านี้ เรือแม่ล่าวาฬ “นิชชินมารุ” ของญี่ปุ่น ถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต้องการขัดขวางการล่าวาฬ ไล่ตามอย่างไม่ลดละในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งในปัจจุบัน เรือลำนี้ถูกปลดระวางหลังอยู่ในทะเลมานาน 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้สร้าง “คังเกมารุ” เรือแม่ล่าวาฬลำใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า ขึ้นมาแทนนิชชินมารุ และออกเดินทางล่าวาฬเป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นับเป็นการประกาศยุคใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการล่าวาฬ ที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลโตเกียว ในฐานะส่วนสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

นายเรียวสุเกะ โอบะ ผู้จัดการร้านอาหารนิชชินมารุ ซึ่งตั้งชื่อตามเรือแม่ล่าวาฬลำก่อนหน้า กล่าวว่า ภายในเรือคังเกมารุ มีห้องแปรรูปเนื้อวาฬ ก่อนนำไปแช่เย็น หรืออีกนัยหนึ่ง เรือลำนี้เปรียบเสมือนโรงงานผลิตเนื้อวาฬนั่นเอง

อนึ่ง ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในการระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ชั่วคราว ของคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (ไอดับเบิลยูซี) ซึ่งทำให้เกิดการล่าวาฬเชิงวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งญี่ปุ่น ถอนตัวออกจากไอดับเบิลยูซี เมื่อปี 2562

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้กลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้ง ในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศ เช่นเดียวกับนอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ เรือคังเกมารุ ซึ่งมีมูลค่า 7,500 ล้านเยน (ราว 1,745 ล้านบาท) และมีน้ำหนักเกือบ 9,300 ตัน วางแผนที่จะจับวาฬประมาณ 200 ตัว ภายในสิ้นปีนี้

“นี่คือเรือลำใหม่สำหรับยุคใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศักราชใหม่ของการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ที่กลับมาอีกครั้ง” นายฮิเดกิ โทโคโระ ประธานบริษัทล่าวาฬที่สร้างเรือคังเกมารุ กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP