สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ว่ามือปืนในบังกลาเทศสังหารครูและนักเรียนคนหนึ่ง ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธจะกลับไปสู้รบที่เมียนมา
เด็กชายและชายหนุ่มชาวโรฮีนจาหลายร้อยคนถูกจับกุมจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่ซึ่งพวกเขามาแสวงหาความปลอดภัย หลังปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมา เมื่อปี 2560 ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาราว 750,000 คน ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยให้ข้อมูลว่า กลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา กำลังรับสมัครผู้ลี้ภัยเพื่อกลับไปสู้รบในเมียนมา
กลุ่มติดอาวุธกล่าวว่า ชาวโรฮีนจา จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา แม้จะเป็นกองกำลังเดียวกับที่ขับไล่พวกเขาให้ลี้ภัย เพื่อเผชิญหน้ากับศัตรูร่วมกัน จากกองกำลังชาติพันธุ์อีกแห่ง นั่นคือ กองทัพอาระกัน (เอเอ)
A #Rohingya militant group is accused of killing a Rohingya teacher and student at a #refugee camp in #Bangladesh. The group has been forcing refugees to fight the #AA alongside #junta forces in Myanmar. #WhatsHappeningInMyanmar #forcedrecruitment https://t.co/ODmsvmrHn5
— The Irrawaddy (Eng) (@IrrawaddyNews) May 31, 2024
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชายสองคน ได้แก่ นายนูร์ อับซาร์ วัย 22 ปี เป็นนักเรียน และครู คือ นายนูร์ ไฟซาล วัย 21 ปี ถูกสังหารในค่ายกูตูปาลอง เขตค็อกซ์บาซาร์ “คนหนึ่งเสียชีวิตทันที และอีกคนหนึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล” เจ้าหน้าที่ อาเรฟิน จิวเวล โฆษกตำรวจเมืองกูตูปาลอง ระบุ “เรากำลังสอบสวนว่า เกี่ยวข้องกับการบังคับสมัครเพื่อไปสู้รบในเมียนมาหรือไม่”
นายอาเหม็ด วัย 45 ปี บิดาของไฟซาลกล่าวโทษ องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา (อาร์เอสโอ) “พวกเขาไปที่โรงเรียนของลูกชาย และต้องการให้เขาเข้าร่วม” อาเหม็ดกล่าวต่อไปว่า “แต่ลูกชายของฉันปฏิเสธ” แล้วเล่าต่อว่า “นอกจากนี้ บุตรชายยังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชุมชนด้วย เพื่อช่วยเด็กและชายหนุ่มชาวโรฮีนจาคนอื่น ๆ จากการบังคับเกณฑ์ทหารโดยกลุ่มติดอาวุธ”
เช่นเดียวกับนายอาเหม็ด อามาน อุลลาห์ วัย 40 ปี บิดาของอับซาร์ ได้กล่าวโทษอาร์เอสโอ “มือปืนอาร์เอสโอยิงพวกเขา อาร์เอสโอฆ่าลูกชายของฉัน” เขากล่าว “พวกเขาพยายามให้อับซาร์เข้าร่วม ชื่อของพวกเขากลายเป็นความหวาดกลัวที่นี่”
ด้านนายโธมัส คีน จากองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับสงครามในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ระบุว่า “การสังหารอันน่าสลดใจตอกย้ำถึงภัยคุกคามที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธ” เขากล่าว “เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่กลุ่มเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการโดยไม่ต้องรับโทษ และผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็อยู่ในจุดแตกหัก”
คีนระบุเพิ่มเติมว่า งานวิจัยของเขาชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยหลายพันคนถูกคัดเลือกโดยกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจา และส่งกลับไปยังเมียนมา โดยนักรบโรฮีนจาจะต่อสู้ร่วมกับกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่
พวกเขากำลังสู้รบกับกองกำลังต่าง ๆ รวมไปถึงกลุ่มอาระกัน ที่ต้องการอำนาจในการ “ปกครองตนเอง” ในรัฐยะไข่ ซึ่งมีประชากรชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ราว 600,000 คน เมื่อต้นเดือนนี้นักรบอาระกันยึดครองเมืองบุติด่อง ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจา และอยู่ไม่ไกลจากบังกลาเทศ
มากไปกว่านั้น ชาวโรฮีนจาพลัดถิ่นหลายกลุ่มอ้างว่า กลุ่มติดอาวุธบังคับให้พวกเขาหลบหนี จากนั้นก็เข้าปล้นสะดมและเผาที่อยู่อาศัยของพวกเขา และอ้างว่ากลุ่มอาระกันเรียกสิ่งนี้ว่า “โฆษณาชวนเชื่อ”
ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 1,870 คน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 เป็นเด็กและเยาวชน ถูกเกณฑ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนระหว่างเดือน มี.ค. ถึงเดือน พ.ค. ปีนี้ ซึ่งมากกว่า 3 ใน 4 ตกลงเข้าร่วมเพราะถูกใช้กำลัง อาทิ ถูกหลอกล่อ, ลักพาตัว และบีบบังคับ
ขณะเดียวกัน กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ออกแถลงการณ์ว่า “ตกใจ” กับการโจมตีครั้งนี้ “ยูนิเซฟขอประณามการโจมตีโรงเรียนใด ๆ ก็ตาม ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเสมอ และสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ให้การศึกษาที่จำเป็นต่อพวกเขา” นายเชลดอน เยตต์ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟบังกลาเทศ กล่าว.
เครดิตภาพ : AFP