สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงการที่สหรัฐเตรียมนำระบบขีปนาวุธร่อนพิสัยทำการระยะไกล ไปติดตั้งที่เยอรมนีในปี 2569 ตามนโยบายด้านความมั่นคงยุโรปขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ว่า “เป็นการเตรียมการเป็นระยะ” สำหรับการเตรียมติดตั้งขีปนาวุธที่ล้ำสมัยกว่านั้นแบบระยะยาวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เอ็มเอส-6 โทมาฮอว์ก และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก


ปูตินกล่าวต่อไปว่า ระยะเวลาการเดินทางของขีปนาวุธเหล่านี้ ซึ่งบางแบบสามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ อยู่ที่ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น หากมีการยิงมาทางรัสเซีย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นเจตนายั่วยุและกระตุ้นความรุนแรง ไม่ต่างอะไรกับที่สหรัฐนำระบบอาวุธไทฟูน ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กได้ ไปติดตั้งที่ฟิลิปปินส์และจีน และการที่นาโตนำระบบขีปนาวุธแบบทิ้งตัว “เพอร์ชิง ทู” ไปติดตั้งในยุโรปตะวันตก เมื่อปี 2522


ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า รัฐบาลมอสโก “พร้อมตอบโต้แบบเดียวกัน” ด้วยการติดตั้งระบบขีปนาวุธบนพื้นที่แห่งใดก็ตาม เพื่อให้มีระยะพิสัยทำการไกลถึงตะวันตก


ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวว่ารัสเซียควรกลับมาผลิตขีปนาวุธซึ่งเคยต้องระงับผลิตไป ตามเงื่อนไขของข้อตกลงควบคุมการผลิตและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ระดับทวิภาคี ที่ลงนามร่วมกับสหรัฐในสมัยสงครามเย็น


รัฐบาลวอชิงตันเมื่อปี 2561 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ( ไอเอ็นเอฟ ) ที่ลงนามร่วมกับรัฐบาลมอสโกเมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามเย็นและปลายยุคสหภาพโซเวียต โดยให้เหตุผลว่า รัสเซียละเมิดข้อตกลงก่อน จากการเดินหน้าพัฒนาโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนนำวิถีจากพื้นสู่พื้น “เอสเอสซี-8” หรือ “9 เอ็ม 729” ต่อจากนั้นไม่นาน รัสเซียประกาศถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟ ส่งผลให้ข้อตกลงมีอันยุติอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ส.ค. 2562.

เครดิตภาพ : AFP