เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และเครือข่าย ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยตรวจสอบพบ ข่าวปลอม เรื่อง “เงินดิจิทัลวอลเล็ต ใช้ซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น”
ทั้งนี้กระทรวงดีอี ได้ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พบว่าเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยข้อมูลจริงคือ การใช้จ่ายเงินดิจิทัลของประชาชน ภายใต้โครงการฯ จะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ซึ่งการชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) เท่านั้น และจะมีการตรวจสอบการใช้จ่าย ดังนี้
1. ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการฯ
2. ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ
3. ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
ในส่วนเงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ได้แก่
1. สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ประกอบด้วย สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องมือสื่อสาร โดยการปรับปรุงสินค้า Negative List ให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
2. การใช้จ่ายตามโครงการฯ จะไม่รวมถึงธุรกิจบริการ อาทิ โรงภาพยนตร์ บริการท่องเที่ยว นำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม เสริมสวย ค่าขนส่งสินค้า
สำหรับวิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
1. ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็ก จนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
3. เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
4. การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ชำระค่าสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1. ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
“กระทรวงดีอี ขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อๆ กันไปในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีเจตนาที่จะบิดเบือน ต้องการสร้างความกังวลสับสนส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้น เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งหวังไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง หรือเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เป็นการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพแก่ประชาชน พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค และการช่วยเหลือร้านค้า ผู้ประกอบการรายเล็ก ให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและทัดเทียม” นายประเสริฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องการใช้จ่ายเงินดิจิทัล และข้อมูลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอย่างถูกต้องจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th หรือโทร. Call center 1203 (02-507-7000, 02-507-8000) โดยการลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะเริ่มต้นลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567