เมื่อเร็วๆ นี้ Times Higher Education (THE) สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ มีการเผยแพร่รายงาน THE Impact Rankings 2024 เกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนโยบายและแนวทางการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Top Universities for Stewardship) และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับโลก (Top Universities for Outreach) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ของโลกตามลำดับ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับ Top5 ของโลก จากมหาวิทยาลัยกว่า 26,000 แห่งทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติและมีการดำเนินการอย่างเนื่อง ผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจแสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่ามหาวิทยาลัยมีผลงานที่โดดเด่น เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
รายงานดังกล่าว ระบุว่า Top Universities for Stewardship อันดับที่ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัย Afe Babalola ประเทศไนจีเรีย ได้คะแนน 98.2 จาก 100 คะแนนเต็ม ตามมาด้วยมหาวิทยาลัย RMIT ในออสเตรเลีย ได้ 96.1 คะแนนและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 3 ได้ 95.6 คะแนน
ส่วน Top Universities for Outreach ได้แก่ มหาวิทยาลัย Afe Babalola ประเทศไนจีเรีย ได้คะแนน 98 จาก 100 คะแนนเต็ม มหาวิทยาลัย Minnesota และมหาวิทยาลัย Arizona State วิทยาเขตเทมพี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ 97.0, 96.2 คะแนน เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 4 มี 95.8 คะแนน
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ม.วลัยลักษณ์ ได้คะแนนด้าน Stewardship สูง เป็นผลมาจากการดำเนินงานในตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ อาทิ การบริหารจัดการเพื่อลดความหิวโหย (SDG2) การบริหารจัดการน้ำให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (SDG6) มีพื้นที่สีเขียวเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มีการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม (SDG11) การมีระบบดูแลสุขภาพกายใจของคนในมหาวิทยาลัย (SDG3) เป็นต้น
ส่วนด้าน Outreach เป็นผลมาจากการดำเนินงานในตัวชี้วัด เช่น การยกระดับการเกษตร (SDG2) การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (SDG14) การสร้างสังคมเมืองและรักษาวัฒนธรรมของภาคใต้ (SDG11) การบริการทางสุขภาพผ่านโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ (SDG3) ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา (SDG4) รวมทั้งการให้ความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ (SDG17)
สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2567 โดยใช้การประเมินตัวชี้วัดภายใต้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) งานวิจัย (research) 2) นโยบายและแนวทางการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (stewardship) 3) การเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก (outreach) และ 4) การเรียนการสอน (teaching)