การมีบุคลิกภาพที่ดีมาจากหลายๆปัจจัยในตัวของแต่ละคน ทั้งเรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม ซึ่งเรื่องของเส้นผมถือว่าสำคัญอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ มีหลายคนประสบปัญหาที่ว่าอายุยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ทำไมกลับมีผมหงอกมาไวเสียแล้ว ส่งผลกระทบกับความมั่นใจ
รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาเฉลยที่มาที่ไปของภาวะดังกล่าว ว่า ผมหงอกเป็นภาวะความเสื่อมตามวัยรูปแบบหนึ่ง พบได้ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ในรายที่พบมีผมหงอกก่อนอายุ 30 ปี ถือว่ามีภาวะ “ผมหงอกก่อนวัย”
สาเหตุหลักของผมหงอกก่อนวัย คือ พันธุกรรม ขณะเดียวกันอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดแร่ธาตุและวิตามินบางชนิด มลภาวะทางอากาศ การสูบบุหรี่ โรคด่างขาว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไทรอยด์
สำหรับการป้องกันภาวะผมหงอกก่อนวัย ทำได้ไม่ยาก ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุต่างๆ ดังนี้ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินบี 12 โอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสี ซึ่งพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืชต่างๆ และงดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์สร้างเม็ดสีในรากผม
การถอนผมหงอก ทำให้หงอกเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่จริง เพราะเมื่อถอนผมหงอกออกไป ผมที่ขึ้นมาใหม่ในตำแหน่งนั้นก็จะหงอกเหมือนเดิม แต่จะไม่ลุกลามหรือกระตุ้นให้เส้นผมบริเวณใกล้เคียงหงอกตามไปด้วย
ส่วนการถอนผมหงอกบ่อยๆ ทำให้ผมไม่ขึ้นจริงหรือไม่นั้น คำตอบคือ จริง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว เส้นผมมีวงจรชีวิต 15-20 ครั้ง ซึ่งหากถอนผมเส้นเดิมออกบ่อยๆ อาจทำให้เซลล์สร้างรากผมหมดไป และไม่สร้างรากผมขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นภาวะผมบางหรือศีรษะล้านได้