นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 13 – 19 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,660 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 256ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 240 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 200 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 100 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 103 เรื่อง กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 30 เรื่อง กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 25 เรื่อง กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 5 เรื่อง และกลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 37 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานและโครงการของรัฐ มากถึง 8 อันดับ ซึ่งเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
อันดับที่ 2 : เรื่อง สธ. เตือนประชาชนระวังไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง แนะอย่าขาดน้ำ
อันดับที่ 3 : เรื่อง ไทยเตรียมรับผลกระทบมวลน้ำจากประเทศจีนที่ไหลผ่านแม่น้ำโขง
อันดับที่ 4 : เรื่อง พายุไต้ฝุ่นเบบินคา ลูกนี้แรงที่สุดเท่าที่มีมาตั้งแต่ปี 1949 เตือนคนไทยเตรียมรับมวลน้ำจำนวนมาก
อันดับที่ 5 : เรื่อง เมื่อเสียชีวิตคนไทยทุกคนจะได้สิทธิรับเงินจาก พม. จำนวน 2,000 บาท
อันดับที่ 6 : เรื่อง พบช่องโหว่ของแอปพลิเคชันทางรัฐ มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลคนไทยได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง อาหารที่อุ่นด้วยไมโครเวฟ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปรบกวนคลื่นสมอง
อันดับที่ 8 : เรื่อง ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยชามะละกอ
อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยอุณหภูมิลดลงมากสุดในรอบ 14 ปี ฝนตกหนัก กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเกิดพายุฤดูร้อน
อันดับที่ 10 : เรื่อง กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟสามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อขอรับเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ผ่านไลน์
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และข่าวเรื่องอุทกภัย ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจเกิดความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดเป็นความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดจะเป็นการดำเนินโดยผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เพื่อเพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาท/คน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 12.40 ล้านราย
และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการซึ่งเป็นผู้เปราะบาง เพื่อเพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
-ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา
-บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “สธ. เตือนประชาชนระวังไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง แนะอย่าขาดน้ำ” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้ไม่ได้ร้ายแรงกว่าปกติ และการดื่มน้ำเพื่อให้เยื่อเมือกลำคอชุ่มชื้นนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด ทั้งนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้และหากป่วยควรรีบเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อน