เป็นภัยพิบัติภัยของพายุยุคโลกร้อน เป็นที่น่าสังเกตจำนวนพายุเมื่อเทียบกับอดีตไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่สิ่งที่เริ่มส่งผลจริงจัง คือ ความผิดแปลกของพายุที่เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในยุคที่ทะเลกำลังร้อนจัดขึ้น และคงต้องยอมรับว่า เราไม่มีทางหยุดความร้อนของทะเลได้ ในแต่ละปีจะมีความร้อนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่พวกเราปล่อยออกไป สะสมเพิ่มมากขึ้นในท้องทะเล ความร้อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้พายุผิดปกติเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุดในระยะเวลา 10-20 ปี โดย 6 ภัยพิบัติ ประกอบด้วย
หนึ่ง พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นในทะเล พลังของพายุมาจากความร้อนของผิวหน้านํ้าทะเล เมื่อเข้าสู่ยุคโลกเดือด ความร้อนมากกว่า 90% ที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ จะถูกทะเลดูดซับไว้ ทะเลจึงร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำลายสถิติต่อเนื่องกัน 3 ปีรวด และเมื่อมองไปข้างหน้า ทะเลยังจะคงร้อนขึ้นอีกต่อไปเป็นสิบ ๆ ปี เพราะเหตุนี้ พายุในยุคโลกร้อนจึงมีแต่ผิดปรกติมากขึ้นเรื่อย ไม่มีทางที่จะจบสิ้นลงในระยะเวลาสั้น ๆ สิ่งที่เราเตรียมการไว้ในวันนี้ จึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่งในวันหน้าและวันต่อไป
สอง พายุแรงขึ้น กรณีนี้ไม่ได้หมายความต้องแรงจนลบสถิติระดับโลกเสมอไป แต่อยากให้ดูสถิติในแต่ละพื้นที่ พายุ Yagi แรงที่สุดที่เคยเข้าเกาะไห่หนาน พายุ Helene แรงสุดที่เคยเข้าในพื้นที่บริเวณนั้นของรัฐฟลอริดา แม้แต่มหานครเซี่ยงไฮ้ยังเจอพายุแรงสุดในรอบเกือบร้อยปี ความแรงของพายุที่มากขึ้นทำให้ผลกระทบถูกส่งต่อจากชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น เช่น พายุ Helene ส่งผลเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของอเมริกาที่อยู่ห่างจากชายฝั่งหลายร้อยกิโลเมตร ภัยพิบัติจากเฮอริเคนหรือไต้ฝุ่นจึงไม่ได้จบลงแค่บริเวณชายฝั่งเหมือนในอดีต ตัวอย่างที่เห็นชัดในเมืองไทยคืออิทธิพลจากพายุ Yagi เข้ามาถึงลาว เมียนมา และไทย ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงในพื้นที่ลุ่มแม่นํ้าโขง
สาม พายุเร่งความเร็วมากขึ้น พายุ Yagi ใช้เวลาแค่ 2 วันจากพายุหมุนเขตร้อนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น พายุอีกหลายต่อหลายลูกในปีนี้ใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการเร่งความแรง การรับมือแบบกะทันหันจึงเป็นไปได้ยาก อาจไม่ทันการณ์ ตัวอย่างจากพายุ Otis เมื่อปี 2566 ที่เร่งความเร็วจากโซนร้อนเป็นซูเปอร์เฮอริเคนเข้าสู่เม็กซิโกในเวลาแค่ 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดความเสียหายเหลือคณานับ กรณีเช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต และการยกระดับการเตือนภัยตลอดจนการให้ความรู้กับพื้นที่เสี่ยงเพื่อรับมืออย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
สี่ พายุกว้างขึ้น ตัวอย่างจากเฮอริเคน Helene ที่เข้าถล่มอเมริกา เป็นพายุที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 675 กิโลเมตร ถือเป็นพายุขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 5-6 ปี แม้ความใหญ่ของพายุจะไม่เกี่ยวกับความเร็วลม แต่พายุยิ่งกว้าง พื้นที่ได้รับผลกระทบยิ่งมากขึ้น หากในอนาคตเกิดพายุขนาดยักษ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ผลจะไม่เกิดเฉพาะบริเวณจุดที่พายุขึ้นฝั่ง แต่ยังรวมถึงชายฝั่งในบริเวณใกล้เคียงในรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร ผลกระทบในลักษณะนี้จะส่งผลต่อประเทศไทย เพราะอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นที่เข้ามาจะกินพื้นที่กว้างกว่าเดิม
ห้า พายุไม่ยอมตาย เฮอริเคน John ได้ชื่อว่าเป็น Zombie Hurricane เพราะพายุเข้าสู่ชายฝั่งเม็กซิโกแล้ว ลดความรุนแรงและใกล้สลายตัว แต่บางส่วนของพายุอยู่ในทะเลที่ร้อนจัด กลับก่อตัวเป็นพายุหมุนและเฮอริเคนขึ้นมาใหม่ ก่อนเข้าสู่ชายฝั่งในบริเวณใกล้เคียงกันอีกครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่กว้างขึ้น พายุไต้ฝุ่นบางลูกในเขตทะเลจีนตะวันออกเกิดปรากฏการณ์คล้ายกัน เช่น พายุในเขตทะเลญี่ปุ่น
หก พายุพานํ้ามามากขึ้น เนื่องจากทะเลร้อนขึ้น ไอนํ้าระเหยมากขึ้น อากาศร้อนจุไอนํ้าได้มากขึ้น พายุในยุคนี้จึงหอบนํ้ามาด้วยมหาศาล เกิดฝนตกหนักแบบ rain bomb ในพื้นที่เล็ก ๆ ทำให้เกิดนํ้าท่วมฉับพลัน นํ้าบ่า และดินโคลนถล่ม ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นหรือเฮอริเคนทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนลบสถิติเดิม ๆ ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียหรือทวีปอเมริกา ผลกระทบจากฝนตกหนักกลายเป็นภัยพิบัติหลักที่ดูเหมือนจะมากกว่าแรงลมด้วยซํ้า ผลกระทบแบบนี้ยังส่งผลลึกเข้ามาในแผ่นดิน ไม่ใช่เฉพาะบริเวณชายฝั่งที่โดนพายุ ประเทศไทยแม้ไม่อยู่ในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไต้ฝุ่น แต่ภัยนํ้าท่วมดินถล่มที่มาพร้อมกับพายุยุคโลกร้อนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
หนทางของเราเหลืออยู่น้อยมาก ในขณะที่เราต้องพยายามลดก๊าซเรือนกระจกด้วยเศรษฐกิจสีเขียว เรายังต้องรับมือกับความแปรปรวนของโลกที่เพิ่มมากขึ้น การฝากความหวังไว้กับระบบโดยรวมของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือ การเตือนภัย การกู้ภัย ฯลฯ บางครั้งอาจไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องช่วยตัวเองตั้งแต่ต้น ประเมินความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เลือกพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินอย่างรอบคอบ ศึกษาเรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะนํ้าท่วมและดินถล่มให้เข้าใจ ใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่หาได้ในโลกโซเชียล เช่น พื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วม ดินถล่ม ฯลฯ เพื่อตัดสินใจในการลงทุนเพื่อการอยู่อาศัยหรือการทำมาหากิน
โลกยุคนี้มิใช่โลกที่จะฝากความหวังไว้กับลมฟ้าอากาศได้เสมอไป เราต้องยกระดับความรู้ พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากมหาภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี.