สำนักข่าวซินหัว ประเทศจีน รายงานว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ต.ค. 67) จีนได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการปล่อยจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ ‘ลี่เจี้ยน-1 วาย5’ (Lijian-1 Y5) พร้อมดาวเทียมทั้งหมด 15 ดวง ซึ่งรวมถึง ดาวเทียม ‘ซี กวง-1 04’ (Xiguang-1 04) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ดาวเทียมดังกล่าวถือเป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ดวงแรกของโลกที่ออกแบบมาโดยเฉาะ เพื่อเฝ้าติดตามการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
‘ซีโอพีเอ็ม สเปซ’ (Xiopm SPACE) ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ชั้นนำของจีน ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยว่า ดาวเทียมซี กวง-1 04 ถูกออกแบบมาเพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการตรวจสอบสภาพแวดล้อม โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่ทันสมัยหลากหลายชนิด อาทิ กล้องถ่ายภาพก๊าซมีเทน กล้องตรวจวัดคลอโรฟิลล์ และกล้องถ่ายภาพมัลติสเปกตรัม ซึ่งจะช่วยให้สามารถ
- ติดตามและวิเคราะห์: แนวโน้มการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกได้อย่างแม่นยำ
- ระบุแหล่งกำเนิด: ของการปล่อยก๊าซมีเทน เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
- ประเมินศักยภาพ: ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ไม่เพียงเท่านี้ ดาวเทียมดวงดังกล่าวยังจะทำหน้าที่เฝ้าระวังการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการและควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
‘ฉินจิ้ง’ ประธานและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซีโอพีเอ็ม สเปซ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของดาวเทียมดวงนี้จะช่วยในการตรวจจับและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนสูง สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
นอกจากดาวเทียม ซี กวง-1 04 แล้ว การปล่อยในครั้งนี้ ยังมีดาวเทียม ซี กวง-1 05 ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับขั้นสูง เช่น กล้องไฮเปอร์สเปกตรัมและกล้องแพนโครมาติก ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา อาทิ การเกษตร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม
ฉินจิ้ง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซีโอพีเอ็ม สเปซ กำลังเดินหน้าพัฒนาดาวเทียมรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการตรวจจับก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยความละเอียดสูงยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกลุ่มดาวเทียมสำรวจระยะไกลตระกูลซีกวง-1 นับว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศของจีน
(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ลี่เจี้ยน-1 วาย5 ซึ่งบรรทุกดาวเทียม 15 ดวง ทะยานขึ้นจากเขตนำร่องนวัตกรรมการบิน และอวกาศเชิงพาณิชย์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2024)
ขอบคุณช้อมูลจาก: ซินหัว