นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต มีภารกิจในการกำกับดูแลและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงตรวจสอบเรือประมงให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง 10 ศูนย์ และด่านตรวจประมง 24 ด่าน เพื่อเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคสัตว์น้ำจากต่างประเทศ อันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศของสัตว์น้ำของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการขับเคลื่อนการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกรมประมงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานในปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ทั้งหมด 337 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดกว่า 2,004 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันการลักลอบสินค้าประมงเถื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กรมประมงจึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “เพิ่มศักยภาพการควบคุมตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต” ให้แก่เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงและด่านตรวจประมงทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 210 ราย ณ โรงแรมดิ ไอเดิล โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จังหวัดปทุมธานี โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 3 รุ่น รุ่นละ 70 ราย โดยการอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย บทบาทหน้าที่ และแนวทางการปฏิบัติงานการควบคุมตรวจสอบสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามมาตรการทางกฎหมายและมาตรฐานสากล รวมทั้งแนวทางการดำเนินคดี การจัดการของกลาง การสืบสวน การบันทึก และการเก็บหลักฐานประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้แบ่งกลุ่ม ฝึกภาคปฏิบัติการพิจารณาอนุญาตและตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้า-ส่งออก นำผ่านสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิตพร้อมทั้งร่วมกันอภิปรายประเด็นปัญหา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานอีกด้วย
กรมประมงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้จะสามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการควบคุมตรวจสอบสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ