นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการ “แพลตฟอร์มกันลวง” หรือ “DE-fence platform” เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรศัพท์หลอกลวงประชาชน หลังจากปัจจุบัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่งเอสเอ็มเอสถึงผู้เสียหาย
“กระทรวงดีอี กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคารไทย เห็นชอบจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรศัพท์และส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวง โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้นของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า สดช.ได้เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มให้พร้อมใช้ในต้นปี 68 สำหรับจุดเด่นของแพลตฟอร์มคือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของตำรวจ สำนักงาน ปปง. ศูนย์เอโอซี 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของลิงก์ที่แนบมากับเอสเอ็มเอสได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ
สำหรับ DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเทอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว และ 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน เอโอซี 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที โดยในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และเอสเอ็มเอสก่อน โดยเฉพาะไวท์ลิสต์ ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดียด้วย.