นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง รวมระยะทาง 35.85 กิโลเมตร (กม.) ของกรมทางหลวง (ทล.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก และเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบกรุงเทพฯ ได้อย่างดี ทั้งนี้จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP NET Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน แต่ได้รับสิทธิจัดเก็บรายได้ และต้องรับความเสี่ยงเรื่องรายได้ ส่วนรัฐได้รับผลตอบแทนบางส่วนตามที่ตกลงกัน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐมีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุนในกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,253.30 ล้านบาท (ขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 68) และกรอบวงเงินร่วมลงทุนที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน 47,521.04 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาการแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 15 ปี ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 34 ปี แบ่งเป็น 1.ออกแบบ และก่อสร้าง 4 ปี (สามารถเปิดให้บริการบางส่วนก่อนได้) และ 2.ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี (เริ่มนับตั้งแต่เอกชนเปิดให้บริการได้ครบทั้งสาย)
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ทล. ต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ขณะเดียวกันก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาจัดทำร่าง RFP ประมาณ 6 เดือน เมื่อแล้วเสร็จ ทล. ก็จะเสนอร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการฯ ม.36 เป็นผู้พิจารณา คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ประมาณปลายปี 68 จากนั้นจะสามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ประมาณครึ่งหลังของปี 69 และเริ่มก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 72
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการมอเตอร์เวย์ M9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สิ้นสุดบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่โครงการ 3 ตำแหน่ง รวมพื้นที่ 33 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา (ตร.ว.) มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทางขึ้น 8 จุดและทางลง 6 จุด ทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง โดยมอเตอร์เวย์สายนี้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ รองรับการสัญจรที่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางโดยคิดตามระยะทางด้วยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น โดยอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ 10 บาท + 1.50 บาท/กม., รถยนต์ 6 ล้อ 15 บาท + 2.40 บาท/กม. และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 25 บาท + 3.45 บาท/กม. ทั้งนี้จะมีการปรับอัตราขึ้นทุก 5 ปี.