เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ ว่า ตามที่ได้ปรากฏคลิปบุคคลแต่งกายคล้ายพระสงฆ์มีการเต้นร้องรำทำเพลง โดยมีการระบุว่าเป็นงานเลี้ยงปีใหม่ของศูนย์หัวใจฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ไปในสื่อออนไลน์ต่างๆ และมีการตั้งคำถามว่าเป็นพระสงฆ์จริงหรือไม่ รวมทั้งเรียกร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ตรวจสอบและดำเนินการนั้น กรณีดังกล่าวสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่ระหว่างการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคลิปดังกล่าวแล้ว และหากพบเป็นการกระทำที่มีเจตนาเข้าข่ายลักษณะความผิดเกี่ยวกับศาสนา ก็จะได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อไป

จากนั้น เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังโพสต์อีกว่า ความรู้สู่ชาวพุทธ “ผ้ากาสาวพัสตร์” (แปลว่า ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด) หรือ “ผ้าไตร” ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกัน เป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้นุ่งห่มกายตามข้อกำหนดของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยผ้าจำนวน 3 ผืน ได้แก่ “จีวร” (อุตราสงค์) เป็นผ้าที่ใช้ห่มด้านนอก “สบง” (อันตรวาสก) ผ้าที่ใช้สำหรับนุ่งด้านล่าง และ “สังฆาฏิ” ผ้าสำหรับนุ่งซ้อนหรือพาดบ่า การนุ่งห่มผ้าไตรนี้เป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลและถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระสงฆ์ ซึ่งประเทศไทยได้รับรูปแบบการแต่งกายนี้เข้ามาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนา ดังที่พบในงานศิลปกรรมกลุ่มพระพุทธรูปสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16) เป็นต้นมา กระทั่งถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ไทยยังคงใช้ผ้าไตรนุ่งห่มตามพระวินัยเช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่พบในประเทศต่างๆ แม้ว่ารูปแบบการครองผ้าจะเปลี่ยนไปบ้างตามแต่ละนิกายก็ตาม
กรณีปรากฏบุคคลนำผ้ากาสาวพัสตร์มานุ่งห่มแต่งกายคล้ายพระภิกษุสามเณร ในการจัดกิจกรรมของหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาหรือองค์กรใดๆ ควรคำนึงถึงเหมาะสม และขอบเขตที่พึงมีด้วย