คอร์ติซอล (Cortisol) คือฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด กระตุ้นการตอบสนองทางกายที่แบ่งออกเป็น “สู้”, “หนี” หรือ “นิ่ง (ตัวแข็ง)” คอร์ติซอลซึ่งเป็นสารที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไตนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
แม้ว่าคอร์ติซอลจะมีประโยชน์ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่หากมีมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ ซึ่งประเด็นนี้ ลิซ เทนูโต กูรูฟิตเนส เจ้าของบัญชี “theworkoutwitch” บนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก ได้โพสต์คลิปวิดีโอเมื่อไม่นานนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับสัญญาณทางกายแปลก ๆ 10 อย่าง ซึ่งบ่งบอกว่า ระดับคอร์ติซอลของคุณอาจพุ่งสูงเกินปกติ ได้แก่
1. ตากระตุก
โดยปกติอาการตากระตุกมักไม่เป็นอันตราย แต่ก็ถือเป็นสัญญาณทางกายภาพอย่างแรกที่บ่งบอกว่า เรากำลังเครียดหนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบดวงตาของเรามีขนาดเล็กและบอบบาง จึงมักเป็นจุดแรกที่เกิดปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อระดับคอร์ติซอลสูงขึ้น เพราะคอร์ติซอลจะออกฤทธิ์เหมือนสารกระตุ้น (คล้ายคาเฟอีน) ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวหรือกระตุกโดยไม่ได้ตั้งใจ
2. หน้าบวมหรือตัวบวม
อาการบวมของใบหน้าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายมีระดับคอร์ติซอลสูง ซึ่งอาจไปรบกวนสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกาย ทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลว ส่งผลให้ตัวบวม
ในบางกรณี อาการบวมของใบหน้าอาจเป็นสัญญาณของโรคคุชชิง ซึ่งเกิดจากร่างกายผลิตคอร์ติซอลออกมามากเกินไป
ระดับคอร์ติซอลที่สูงในร่างกายยังไปลดการไหลเวียนของเลือดไปยังระบบย่อยอาหาร ส่งผลให้การทำงานของลำไส้และแบคทีเรียในลำไส้หยุดชะงัก ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี มีแก๊สในท้องมากเกินไป และตัวบวม
3. มีรอยฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
ระดับคอร์ติซอลที่สูงเกินไปอาจทำให้โปรตีนโครงสร้างในผิวหนังอ่อนแอลง ทำให้ผิวบางลงและเปราะบางมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ผนังหลอดเลือดขนาดเล็กอ่อนแอลง ทำให้หลอดเลือดเสียหายและมีเลือดออกได้ง่ายขึ้น แม้จะบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4. ผมร่วง
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคอร์ติซอลที่สูงเกินไปอาจทำให้ผมร่วงได้ โดยไปบังคับให้เซลล์ต้นกำเนิดของรูขุมขนเข้าสู่ช่วงพักตัวเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีผมงอกใหม่ นอกจากนี้ เมื่อต่อมหมวกไตทำงานเพื่อผลิตคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ก็จะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยให้ผมงอกงามแข็งแรง เช่น เทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน น้อยลง ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเช่นนี้สามารถทำให้ผมบางลงได้
5. การมองเห็นแย่ลง
เมื่อคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้น อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดจากตาไปยังสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการมองเห็น นอกจากนี้ยังอาจทำให้ความดันภายในตาเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน
ไม่เพียงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดจากระดับคอร์ติซอลที่สูงยังเกี่ยวข้องกับอาการตาแห้ง การมองเห็นพร่ามัว และดวงตาไวต่อแสงเพิ่มขึ้น
6. สมองมึนงง คิดอ่านได้ไม่ชัดเจน
ความเครียดเรื้อรังทำให้ระดับคอร์ติซอลพุ่งสูง ซึ่งอาจไปรบกวนสมองส่วนที่รับผิดชอบเรื่องความจำ สมาธิ และการตัดสินใจ ส่งผลให้มีอาการสมาธิสั้น จำอะไรไม่ค่อยได้หรือคิดได้ไม่ชัดเจน ระดับคอร์ติซอลที่สูงยังทำให้สารสื่อประสาทสำคัญอื่นๆ เช่น โดปามีนและเซโรโทนินเสียสมดุล ทำให้การทำงานของสมองแย่ลง และส่งผลให้เรารู้สึกเบลอและควบคุมอารมณ์ไม่ได้
@theworkoutwitch Replying to @Doina Neculcea release excess cortisol naturally ✌???? release stress & stored trauma (30 day course) ???? on profile #cortisol #cortisollevels #stressrelease #stressrelief #somatichealing #somaticexercise
♬ original sound – DJ R-LO | The Peoples DJ
7. มีเสียงดังในหู
ระดับคอร์ติซอลที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อระบบการได้ยิน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด การทำงานของเส้นประสาท และทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลให้เกิดเสียงดังในหูได้ ซึ่งจะฟังคล้ายเสียงกริ่งหรือกระดิ่ง เสียงดังหึ่งๆ โดยไม่มีแหล่งกำเนิดเสียงภายนอก
8. มีอาการร้อนวูบวาบหรือจู่ ๆ ก็หนาวสั่น
เมื่อระดับคอร์ติซอลพุ่งสูงขึ้น อาจทำให้สมองตอบสนองต่อเอสโตรเจนได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ แม้ว่าระดับเอสโตรเจนของคุณจะปกติก็ตาม ระดับคอร์ติซอลที่ผันผวนยังสามารถทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดในร่างกายส่งเลือดไปยังอวัยวะสำคัญ และดึงเลือดออกจากอวัยวะที่ไม่สำคัญ เช่น ผิวหนังและกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดความรู้สึกหนาวสั่น
9. มีอาการเจ็บหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ
ระดับคอร์ติซอลที่สูงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หลอดเลือดตีบ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายที่ช่วงอก นอกจากนี้ ความวิตกกังวลหรืออาการตื่นตระหนก ซึ่งเกิดจากคอร์ติซอลที่สูง อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกที่คล้ายกับอาการหัวใจวายได้
10. รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรงก่อนเวลาบ่ายสามโมง
โดยปกติแล้ว ระดับคอร์ติซอลจะพุ่งสูงสุดในตอนเช้าเพื่อช่วยให้คุณตื่นตัว จากนั้นจะลดลงในตอนเย็นเพื่อส่งสัญญาณว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้จังหวะการทำงานตามธรรมชาตินี้ผิดปกติ ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไปเนื่องจากพยายามรักษาระดับการผลิตคอร์ติซอลให้เหมาะสม ซึ่งหมายความว่าระดับคอร์ติซอลของคุณอาจพุ่งสูงขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือลดลงเมื่อคุณต้องการพลังงานมากที่สุด ทำให้คุณรู้สึกอ่อนล้า สมองมึนงง และไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ไปตลอดทั้งวันที่เหลือได้
ที่มา : nypost.com