ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านระบบ Zoom โดยได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชน ประมาณ 34,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นไตรมาสที่ 3 โดยการสำรวจดังกล่าว เป็นการสอบถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง อีกทั้งยังมีการสำรวจประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่อีกด้วย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้โดยรวม ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อยู่ในช่วงเชื่อมั่น ที่ระดับ 51.87 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 50.90 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของความเชื่อมั่น ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม สำหรับด้านความมั่นคงดัชนีปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย และเมื่อพิจารณามิติของความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอนาคต พบว่า ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.88 และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นมาโดยตลอด ทั้งสามไตรมาส ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น (ระดับ 48.14) ชี้ว่าแม้ประชาชนจะยังมีความกังวลกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่ยังมีมุมมองเชิงบวกและมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นมาโดยตลอด

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้จำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า ในไตรมาสนี้ทุกจังหวัดมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา ที่ดัชนีปรับตัวกลับมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่ พบว่า เรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ร้อยละ 67.05) รองลงมาได้แก่ เรื่องรายได้ตกต่ำ (ร้อยละ 57.98) เรื่องค่าครองชีพ/ราคาสินค้าและบริการสูง (ร้อยละ 55.59) การว่างงาน (ร้อยละ 48.90) และปัญหาปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 44.73) สำหรับความต้องการที่ประชาชนต้องการให้ช่วยเหลือ/แก้ไขมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เรื่องลดภาระค่าครองชีพ/ราคาสินค้า การมีงานทำและรายได้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตร และความไม่สงบในพื้นที่
ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต. มุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับคนที่ตกงานจากผลกระทบของโควิด-19 ในขณะที่ทางรัฐบาลได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหน้า เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ประสานงาน บูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัว เพื่อลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด     

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ศอ.บต. ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน เชื่อมั่นว่าการจัดทำดัชนีและการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ร่วมกันทำกับกระทรวงพาณิชย์ จะนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น และหากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดเป็นกิจกรรมพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือความมั่นคง ก็จะทำให้การขับเคลื่อนงานก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างแม่นยำ ตรงเป้าและเกิดประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดแถลงผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ไตรมาส 1 และ 2 ได้จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 6 เดือน และการแถลงผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ไตรมาส 4 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2565 นี้