เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ 23 ม.ค. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพิจารณาศึกษาและติดตามความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงินการใช้บัญชีม้า และการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดนแม่สาย โดยเชิญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สาย แต่ปรากฏว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มาชี้แจง แต่ได้มอบหมายให้ตัวแทนจาก กฟภ. ชี้แจงแทน โดยให้เหตุผลว่า ติดภารกิจที่ จ.สงขลา

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ. มีการประชุมพิจารณาปัญหานี้หลายครั้งแล้ว ซึ่งครั้งนี้จะมุ่งไปที่การใช้ทรัพยากรของไทยอย่างไฟฟ้า ที่ถูกป้อนให้กับอาชญากรข้ามชาติ พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง โดยเฉพาะ กฟภ.อำเภอแม่สาย ที่มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายยาเสพติด และเปิดบริษัทนนอมินีเพื่อรับสัญญาแทน ซึ่งการที่ไทยยังต้องอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มค้ายาเสพติด โดยที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ขายไฟให้ จึงเห็นว่า กฟภ. ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งเรามีข้อมูลใหม่ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีคำสั่งทบทวนการพิจารณาตัดสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว และมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาให้ติดตามตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีคำสั่งหลายอย่างที่ควรเดินหน้าได้ แต่ขณะนี้ติดอะไร ทำไม กฟภ. ถึงพิจารณาตัดไฟได้ยากเย็น ทั้งๆ ที่หลักฐานหลายอย่างประจักษ์ชัดแจ้ง

“ขอฝากไปถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยดูแล กฟภ. ซึ่งมีอำนาจดำเนินการได้เลย แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่าให้ประชาชนซุบซิบนินทาว่า สุดท้ายแล้วอาจจะมีส่วนร่วมกับขบวนการหรือเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชี้แจงถึงขั้นตอนการขายไฟฟ้าให้เมียนมา หากมีการนำไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องเป็นสิ่งที่เมียนมาแก้ไขดำเนินการนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้า เป็นบริษัทนอมินีของ นายหม่อง ชิตตู่ ผู้นำของกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ซึ่งเป็นที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และไฟฟ้าเหล่านี้ถูกนำไปจำหน่ายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งการที่บอกว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทของตัวแทนทางเมียนมา ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่สถานการณ์ในเมียนมา และรัฐบาลเมียนมาวันนี้ล้มเหลว มีการสู้รบเป็นสงครามกลางเมือง จะมองว่าเป็นประเทศปกติไม่ได้ นายอนุทินต้องเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมา ตนเคยเปิดเอกสารในสภาว่า มีหนังสือส่งมาที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีการอ้างมติ ครม. คำถามคือแล้วกระทรวงมหาดไทยไม่ต้องทำตามมติ ครม. ใช่หรือไม่ และปลัดกระทรวงมหาดไทยก็เคยทำหนังสือส่งตามไปด้วยเช่นกัน แล้วทำไม กฟภ. จึงขายไฟฟ้าได้ต่อ ส่วนตัวคิดว่าการตัดไฟสามารถทำได้ แต่วันนี้ที่ตัดไม่ได้เพราะมีผลประโยชน์หรือไม่

เมื่อถามถึง กรณีที่รัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาเปิดเผยว่า เพื่อนบ้านทำให้ปราบคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวยอมรับว่า ก็เข้าใจในทางปฏิบัติรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่สามารถจะเข้าไปปราบปรามได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้นการปราบปรามก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาพูดมาก็ถือเป็นการยืนยันว่า ปัญหาที่ตนเคยพูดมาตลอดว่า กฟภ. ต้องมีการตัดไฟเป็นเรื่องจริง ซึ่งสื่อที่มีการเผยแพร่ออกมาก็เป็นสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ตนจึงคิดว่า ไทยต้องทบทวนตัวเองว่าน่าละอายใจขนาดไหน ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และวันนี้ไทยไม่ใช่แบตเตอรี่ธรรมดา แต่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กมธ. ทางตัวแทน กฟภ. ได้ชี้แจงว่า การไฟฟ้าได้รับนโยบายและข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 67 ได้หารือกับ ป.ป.ส. และ ปปง. เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะทำการซื้อขายไฟฟ้าหรือคู่สัญญาที่จะซื้อขายไฟฟ้ากับไทย ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้ให้การไฟฟ้าส่งข้อมูลของผู้ที่จะซื้อไฟฟ้า เข้าสู่การตรวจสอบ เพราะ ป.ป.ส. และ ปปง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของนิติบุคคล คณะกรรมการบริหาร ผู้ถือหุ้น ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ หลังตรวจสอบเสร็จจะส่งให้การไฟฟ้าพิจารณา และเพื่อความครบถ้วน ที่ประชุมยังให้การไฟฟ้าส่งข้อมูลให้กับ ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย จากนั้นในวันที่ 9 ธ.ค. 67 ทาง กฟภ. ได้ส่งเรื่องให้ รมว.มหาดไทย นำเสนอต่อ ครม. ถึงแนวทางงดจำหน่ายไฟฟ้า

ตัวแทน กฟภ. ชี้แจงต่อว่า ในวันที่ 24 ธ.ค. 67 กฟภ. ได้ประชุมร่วมกับ สมช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดการพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และวันที่ 25 ธ.ค. 67 คณะกรรมการของ กฟภ. ลงไปสำรวจที่จุดซื้อขายไฟฟ้า ในพื้นที่ จ.ตาก ซึ่งเหลืออยู่ 2 จุด ในวันที่ 26 ธ.ค. 67 ทาง กฟภ. ได้จัดประชุมกับแนวงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติ กรณีงดจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เพื่อรวบรวมและนำเสนอต่อ ครม. กระทั่งวันที่ 7 ม.ค. 68 กฟภ. ได้ส่งข้อมูลผู้ขอซื้อไฟฟ้าไปถึง ป.ป.ส. ปปง. ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ช่วยตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ในขณะที่ กฟภ. ได้ดำเนินการประสานกับคู่สัญญา เพื่อขอข้อมูลระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากประเทศใกล้เคียงที่เราให้บริการ ซึ่งในวันที่ 29 ม.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ กฟภ. เพื่อเสนอแนวทางการงดจำหน่ายไฟฟ้า ให้กับประเทศใกล้เคียง ในกรณีที่มีผลกระทบเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพื่อเสนอเป็นความเห็นให้ ครม. พิจารณา

ขณะที่ตัวแทน สมช. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า จากการประชุมหารือกับ กฟภ. รวมถึงการตรวจสอบล่าสุด ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะยืนยันว่า บริษัทที่นำกระแสไฟฟ้าจาก กฟภ. ไปใช้ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ สมช. ก็เข้าใจว่า การใช้ไฟฟ้าก็ต้องวนกันไป ดังนั้น สมช. จะประสานกับหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงการไฟฟ้า เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่า สรุปแล้วการใช้ไฟฟ้ากระทบต่อความมั่นคงหรือไม่.