เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีรายชื่อน่าสนใจ คือ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 126 ล้านบาท หนี้สิน 43 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ว่า มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการแขวนป้ายหมอ ทำรายได้ 210,000 บาทต่อปี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ว่า ตนขอพูดในแง่ของกฎหมายก่อน คือคลินิกแห่งหนึ่งจะประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม 1. ผู้ประกอบกิจการ เจ้าของคลินิก 2. ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นคนคอยควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ ความปลอดภัย กำกับดูแลแพทย์ที่ให้การตรวจรักษาคนไข้ว่า เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ และ 3. ผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพ
ทพ.อาคม กล่าวว่า การเปิดคลินิกเวชกรรม เจ้าของจะไปจ้างแพทย์ให้มาเป็นผู้ดำเนินการ ควบคุมกำกับ ซึ่งหากผู้ดำเนินการนี้ไม่กำกับดูแลคลินิกให้ดีแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจากการทำงาน ไม่ปลอดภัย หรือผู้ประกอบวิชาชีพไม่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพ ปล่อยให้คนที่ไม่ใช่หมอมาทำหน้าที่ในสถานพยาบาล แพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการ จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นแพทย์ ดังนั้นจะทำการรักษาด้วยก็ได้ แต่หน้าที่หลักคือต้องกำกับดูแลสถานพยาบาลนั้นๆ ตามเวลาที่แจ้งเปิดสถานพยาบาลเอาไว้กับทาง สบส. เช่น แจ้งว่า เปิด 09.00-22.00 น. แพทย์ผู้ดำเนินการก็ต้องอยู่ประจำคลินิกแห่งนั้นครบเวลา หากไม่อยู่คลินิก เช่น ไปกินข้าวเที่ยงก็ต้องสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้ว หากแพทย์ผู้ดำเนินการไม่อยู่คลินิกต้องติดป้ายว่า “ปิด” หรือ “Close” เมื่อกลับมาประจำที่คลินิกแล้วถึงจะสลับเป็นป้าย “เปิด” หรือ “Open”
เมื่อถามว่าผู้ที่ต้องแขวนใบประกอบวิชาชีพไว้ที่คลินิกเพื่อให้ผู้รับบริการทราบคือกลุ่มใด ทพ.อาคม กล่าวว่า ที่ต้องแขวนไว้ที่คลินิกให้ผู้รับบริการทราบมี รวมถึงสามารถแสกนคิวอาร์โค้ดดูข้อมูลได้ คือ 1. ใบอนุญาตประกอบกิจการ มีอายุ 10 ปี 2. ใบผู้ดำเนินการ ปกติ ต้องต่ออายุทุก 2 ปี จะบอกว่าแพทย์ท่านใดเป็นผู้ดำเนินการ มีหมายเลขผู้ดำเนินการ ประชาชนสามารถสแกนแล้วตรวจสอบข้อมูลได้หมด
เมื่อถามว่า ในส่วนของแพทย์ผู้ดำเนินการแค่มารับเป็นจ๊อบๆ ได้หรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า ไม่ได้ ผู้ดำเนินการต้องทำหน้าที่ควบคุมกำกับคลินิกอย่างใกล้ชิดตามระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการขออนุญาตเปิดกิจการ เมื่อถามย้ำว่า ใน 1 คลินิกจ้างผู้ดำเนินการ 2 คน สลับกันดูแลได้หรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า 1 คลินิกจะมีผู้ดำเนินการ 1 คน ยกเว้นหากแพทย์ผู้ดำเนินการหากมีธุระที่ไม่สามารถอยู่ประจำคลินิกได้ แต่คลินิกยังต้องเปิดให้บริการ ก็จะมอบหมายแพทย์ท่านอื่นที่มีคุณสมบัติมาดำเนินการแทนไปก่อนได้ แต่จะต้องแจ้งรายชื่อแพทย์ที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการแทน ต่อภาครัฐไม่เกิน 3 วัน
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา กรณีมีปัญหาแขวนใบประกอบวิชาชีพโดยที่แพทย์ไม่ได้อยู่คลินิกจริง ส่วนใหญ่แพทย์เป็นกลุ่มใด ทพ.อาคม กล่าวว่า ส่วนใหญ่ เป็นคนที่เอาใบประกอบวิชาชีพมายื่นกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการนำไปยื่นต่อภาครัฐ แต่ตัวเขาอาจจะไม่ได้มาอยู่ดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิด เอาแค่ป้ายมาแขวนไว้แบบนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย โดยเจ้าของซึ่งต้องจัดให้มีผู้ดำเนินการดูแลคลินิกของตัวเองอย่างใกล้ชิด หากไม่มีผู้ดำเนินการก็จะมีโทษตามกฎหมาย ทั้งจำ ทั้งปรับ เหตุที่ไม่สามารถจัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการได้ ส่วนแพทย์ผู้ดำเนินการปล่อยปละเลย ไม่มาควบคุม ปล่อยให้มีการเอาคนอื่นมาทำหน้าที่เป็นแพทย์ให้บริการคนไข้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
เมื่อถามย้ำว่า แล้วในส่วนของ พญ.เกศกมล ที่แจ้งรายได้มาจากการแขวนใบประกอบวิชาชีพนี้ จะมีการตรวจสอบอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสังคมมีการตั้งคำถาม ทพ.อาคม กล่าวว่า กรม สบส. เรายังไม่สามารถไปกล่าวโทษใครได้ ขอไปตรวจสอบก่อนว่าคำว่า “แขวนป้าย” นั้น เขาได้ดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิดหรือไม่ คือในส่วนของคำพูดนั้น ทาง สบส. ไม่ได้ติดใจ สบส. จะติดใจว่า ได้มีการควบคุมกำกับดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิดหรือไม่ ถ้าช่วงเวลาที่ไม่อยู่นั้น มีผู้มาดำเนินการแทนหรือไม่ แต่ว่าการที่จะให้ผู้ดำเนินการแทนหรือไม่แทนนั้น เป็นเรื่องของผู้ประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่การตรวจสอบพวกนี้จะเป็นการเข้าไปดูแบบให้เห็นคาหนังคาเขามากกว่า.