มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มแข็ง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรและขยายเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากดำเนินงานพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิด ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ

ล่าสุด มูลนิธิฯ จึงได้จัดตั้งหน่วยงาน ‘ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน’ ขึ้น เพื่อเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับสากล

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิฯ ได้ประกาศปรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืนและครบวงจร ซึ่งจะดำเนินงานผ่าน 4 กลุ่ม ได้แก่ โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้แบรนด์ดอยตุง การแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ และการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน มูลนิธิฯ จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งดำเนินงานมายาวนานกว่า 36 ปี มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว

“เราปักธงตำราแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับโลก ซึ่งไม่ได้ทำแต่เรื่องของความยั่งยืนในไทยเท่านั้นแต่เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีไปเผยแพร่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้หลักการทรงงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้แพร่หลาย โดยนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งเวทีระหว่างประเทศและใช้กับองค์กรต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ” หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว

สำหรับการดำเนินงานผ่าน 4 พันธกิจหลัก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างครบวงจร ได้แก่

1. กลุ่มงานด้านโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่: โครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ, โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ป่าเศรษฐกิจ จ.น่าน รวมถึงโครงการศึกษาการปลูกชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีโครงการในต่างประเทศ เช่น เมียนมา อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย

2. กลุ่มงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ดอยตุง (Social Business): ดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์ดอยตุง เพื่อสร้างอาชีพและส่งเสริมธุรกิจยั่งยืนใน 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารแปรรูป, กาแฟและแมคคาเดเมีย, หัตถกรรม, คาเฟ่ดอยตุง, และเกษตรกับการท่องเที่ยว

3. กลุ่มงานการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ (Nature-Based Solutions): ในปี 2563 ได้ริเริ่ม ‘โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ซึ่งขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 258,186 ไร่ ใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, กำแพงเพชร, อุทัยธานี, กระบี่, ยโสธร, อำนาจเจริญ, น่าน และลำปาง มีชุมชนเข้าร่วม 281 ชุมชน รวมประชาชนกว่า 150,000 คน และได้รับการสนับสนุนจากกว่า 25 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการนี้ช่วยลดปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ลดอัตราคนว่างงาน บรรเทาหนี้ครัวเรือน และสนับสนุนภาคธุรกิจในการชดเชยก๊าซเรือนกระจก

4. กลุ่มงานด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน: มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ เพื่อนำแนวทางความยั่งยืนไปปฏิบัติได้จริง เช่น การวางแผนและตรวจสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์แบบ EPR การประเมินและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการน้ำ และการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า งานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน เป็นกลุ่มงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาเนื่องจากทั่วโลกต่างกำลังมองหาแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ ขณะที่แม่ฟ้าหลวงฯ มีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ได้ หากธุรกิจเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ผลกระทบเชิงบวกก็จะมีการขยายขอบเขตออกไปมากขึ้น

ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงาน มูลนิธิฯ พร้อมที่จะสนับสนุนองค์กรในการปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่งความยั่งยืน ผ่านการให้คำปรึกษาในประเด็นต่างๆ เช่น การประเมินและปรับปรุงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การจัดการขยะแบบครบวงจรตามหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) การประเมินและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การมีส่วนร่วมกับชุมชน และการสร้างความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถและจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย