การพบเจอ “น้องอัษ” เด็กที่หายตัวไปเมื่อ 5 ปีก่อน ในวัย 13 ปี กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวในสภาพปกติและเติบโตจาก “เด็กชาย” เป็น “นาย” สะท้อนให้หลายครอบครัวที่มีคนพลัดพราก ได้มีหวัง “สักวัน” อาจมีโอกาสเดียวกันเกิดขึ้น
ปัญหาคนหาย โดยเฉพาะเด็กหายหากสังเกตจะพบว่าที่ผ่านมา “สาเหตุ” หลักแทบไม่เปลี่ยนจากเดิมนั่นคือ สมัครใจออกจากบ้าน เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า กรณีเด็กหายมีหลายประเภท ทั้ง สมัครใจหนีออกจากบ้าน, กลุ่มแย่งการปกครองบุตร, กลุ่มลักพาตัวเด็ก, กลุ่มเด็กพลัดหลง และกลุ่มอื่นๆซึ่งยังไม่เจอตัว และยังไม่ทราบสาเหตุ
แต่จากการประเมินพบว่ากลุ่มเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน เป็นกลุ่มที่หายเยอะที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่เหมือนกันทั่วโลก ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา กลุ่มเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านมีจำนวนมากสุดเช่นกัน
กลุ่มสมัครใจหนีออกจากบ้าน เอกลักษณ์ บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กโต อายุตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไป โดยมักมีปัญหาอื่นร่วมด้วย ไม่ใช่การจู่ๆ หายไปเอง กล่าวคือในบ้านที่เด็กอาศัยอยู่อาจมีปัญหาบางอย่าง เช่น มีความรุนแรงในครอบครัว หรือลักษณะที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เด็กไม่สามารถขอคำปรึกษาใครได้ หรือเรียกได้ว่าพ่อแม่ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก หรือไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกบ้าน ไปคุยกับคนในโลกออนไลน์ แล้วออกจากบ้านไป
กรณีเด็กหายเป็นเวลานาน บางกรณี 5 ปี หรือ 10 ปี ในการติดตามยอมรับว่าต้องรู้สึกท้อบ้างแน่นอน ในฐานะคนทำงาน เป็นคนรับแจ้งเรื่อง แบกรับความคาดหวังไปหาครอบครัวคนหายและรับความทุกข์กลับมา แต่เชื่อว่าครอบครัวเด็กรู้สึกท้อมากกว่า
“เรายังกินได้นอนหลับ แต่ครอบครัวของคนที่หายไป เขาทุกข์ยิ่งกว่าเราอีก หน้าที่เราไม่มีเวลามานั่งอมทุกข์ เมื่อเราไปรับความทุกข์ ความท้อแท้ใจของครอบครัวกลับมา เรามีหน้าที่มานั่งคิดว่าต้องทำเช่นไรต่อ”
เอกลักษณ์ ระบุ การติดตามคนหายใช้หลายวิธี เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ การนำรูปเด็กไปติดไว้บนซองขนม และน้ำดื่ม รวมถึงประสานงานกับตำรวจเพื่อสืบสวนติดตามตัว รวมถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์ต่าง ๆ อย่างการเก็บข้อมูลพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของพ่อแม่เด็ก เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล
พร้อมยกตัวอย่างกรณี “น้องอัษ” เด็กชายที่หายตัวออกจากบ้านไปเมื่อ 5 ปี (วันที่ 16 พ.ย. 62) ก่อนมีการประชาสัมพันธ์อีกครั้งในช่วงวันเด็ก และนำไปสู่การพบตัวช่วงวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา จัดอยู่ในกรณีเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน แต่ก็มีเรื่องอื่นปนอยู่ด้วย เนื่องจากเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมกับปัจจัยที่เด็กกับผู้ปกครองมีปัญหาบางอย่าง ทำให้เด็กหนีออกไป
“เมื่อน้องอัษมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ เขาจึงมีชุดความคิดไม่เหมือนกับเรา และเมื่อออกไปนอกบ้านจึงไปใช้ชีวิตเร่ร่อน และเกิดการตกกระไดพลอยโจนคือ เมื่อออกจากบ้านไป ก็ไปเจอกลุ่มคนต่างๆ และชักนำชีวิตของน้องไปเรื่อยๆ เจอทั้งเรื่องเลวร้ายทั้งปัญหายาเสพติด แต่ยังโชคดีที่น้องรอดชีวิตมาได้ ต่างจากอีกหลายคนที่ดำดิ่งสู่โลกมืดในวงการยาเสพติด และการก่ออาชญากรรม”
เอกลักษณ์ ทิ้งท้ายยอมรับไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ปัญหาที่เด็กหนีออกจากบ้านหลักๆ ยังเป็นเรื่องครอบครัว
สถานการณ์จริง
ข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา ปี 67 รับแจ้งเด็กหาย 314 ราย (สูงกว่าปี 66 ร้อยละ 6) สาเหตุมาจากสมัครใจหนีออกจากบ้าน 227 ราย (อายุน้อยสุด7 ปี), พัฒนาการช้า 29 ราย, ขาดการติดต่อ/สูญหาย 18 ราย, แย่งปกครองบุตร 17 ราย, ลักพาตัว 5 ราย, เด็กพลัดหลง 4 ราย, อุบัติเหตุ 2 ราย และอื่น ๆ 12 ราย
แบ่งตามช่วงอายุเด็กหาย 0-10 ปี จำนวน 40 ราย, อายุ 11-15 ปี จำนวน 171 ราย และอายุ 16-18 ปี จำนวน 103 ราย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน