จากกรณีวันที่ 11 ก.พ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ ได้เข้าหารือกับพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีค้ามนุษย์ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญในสำนวนคดีพิเศษที่ 304/2565 กรณีดีเอสไอได้ให้ความช่วยเหลือชาวอินเดีย 7 ราย ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถูกบังคับค้ามนุษย์ ภายในพื้นที่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งมีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการกระทำความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ และมีคนไทยร่วมเกี่ยวข้อง เป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญารัชดาภิเษก ออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาเบื้องต้น 3 ราย

ประกอบด้วย 1.พันเอก ซอชิตตู (Colonel Saw Chit Thu) หรือ พันเอก หม่องชิตตู 2.พันโท โมเต โธน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และ 3.พันตรี ทิน วิน Tin Win (Major Tin Win) ต่อมาวันที่ 12 ก.พ. พันโท หน่ายหม่อง โซ รองผู้บังคับการกองกำลังบีจีเอฟ ศูนย์เมียวดี ได้ออกมาตอบโต้ดีเอสไอว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ขณะที่ พันเอก หม่องชิตตู ก็ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวท้องถิ่นว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำคนต่างชาติเข้ามาที่เมียนมา พร้อมยืนยันว่ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนส่วนหน้าบีจีเอฟ พร้อมที่จะส่งตัวบุคคลชาตินั้น ๆ ทุกคน ให้ทุกประเทศที่ประสานมาอยู่แล้ว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 304/2565 ซึ่งวานนี้ (11 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าหารือกับพนักงานอัยการ มีวาระการหารือ 2 ประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับฟังคำแนะนำของพนักงานอัยการว่าจะให้ดีเอสไอไปดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้าง ซึ่งก็รวมไปถึงการที่ดีเอสไอได้ขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวนในคดีค้ามนุษย์ เพื่อขอศาลอาญารัชดาภิเษกออกหมายจับ 3 นายทหารผู้นำกองกำลัง BGF

รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เผยต่อว่า ส่วนกรณีที่มีทางตัวแทนของกองกำลังบีจีเอฟ ศูนย์เมียวดี ได้ออกมาตอบโต้ดีเอสไอ ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์นั้น ต้องเรียนอธิบายว่า ตามกฎหมายของเรา ถ้าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีของเรา เราก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับ เพื่อที่บุคคลนั้นจะไม่สามารถเข้ามายังราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งจากรายงานการสืบสวนสอบสวนและพยานหลักฐานของดีเอสไอ ก็พบว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสถานที่ มีหน้าที่ในการดูแลอาคารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนรายละเอียดเชิงลึกต้องขอสงวนไว้เป็นเนื้อหาภายในสำนวน แต่ยืนยันได้ว่าทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันจริง มีส่วนในการช่วยเหลือและให้การสนับสนุน

รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เผยอีกว่า นอกจากนี้ ในวันนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ เข้าบันทึกถ้อยคำในที่ประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และขอข้อมูลจากทาง สมช. เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวด้วย ส่วนในเร็ว ๆ นี้ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อหารือความคืบหน้าสำนวนการสอบสวน และการดำเนินการตามขั้นตอนในคดีอาญาต่อไป.