เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ก.พ. ที่ รร.เอส 31 สุขุมวิท เขตวัฒนา  ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการประชุมรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการพัฒนาโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ของบริษัท ชินวะ เอส 39 จำกัด เนื่องด้วยบริษัท ชินวะ เอส39 จำกัด มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ซึ่งเป็นอาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารชุด) จำนวน 2 อาคาร สูง 7 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีห้องชุดพักอาศัย จำนวน 291 ห้อง ห้องชุดเพื่อการพาณิชย์ 1 ห้อง และที่จอดรถยนต์ 136 คัน ประกอบด้วย ที่จอดรถปกติ 132 คัน ที่จอดรถผู้พิการ 4 คัน มีพื้นที่ 2-2-88.40 ไร่ หรือ 4,353.60 ตร.ม. ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 39 (ซอยพร้อมมิตร) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา 


โดยได้มอบหมายให้บริษัท ตถาตา สิ่งแวดล้อม จำกัด ให้ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร  บริษัทฯ จึงเชิญผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา การประเมินทางเลือกโครงการ และรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลต่อโครงการ เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 28 ก.ย.67 ได้เคยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้นำข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะ จัดทำเป็นร่างรายงานและร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดทำเป็นเอกสารเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณา โดยมีประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ผู้ช่วย สส. เข้าร่วมประชุมและสะท้อนความคิดเห็น

ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวสะท้อนข้อกังวล ข้อสังเกตและประเด็นสำคัญต่อบริษัทเจ้าของโครงการฯ และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ว่า ปัญหาสำคัญในตอนนี้ เราย้ำว่ามี 4 ประเด็น คือ ปัญหาการจราจร เพราะภายในซอยสุขุมวิท 39 การสัญจรของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค่อนข้างติดขัดมาก มีลักษณะเป็นคอขวด ด้วยความกว้างของซอยเพียง 4.6 เมตร เรื่องความปลอดภัย หากเกิดอัคคีภัย รถดับเพลิงจะเข้าถึงอย่างไร ทั้งในส่วนของผู้ที่พักอาศัยคอนโดฯ ที่จะก่อสร้าง หรือชาวบ้านในซอยพร้อมมิตรก็ตาม เพราะถ้าหากเกิดเพลิงไหม้ในซอย ทางเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะรู้หรือไม่ว่าต้องใช้ทางซอยสุขุมวิท 49 จะเข้าง่ายกว่า ก็เพราะว่าสุขุมวิท 49 คือเส้นทางรอง คนไม่ค่อยใช้กัน 


ทั้งนี้ได้มีการลงพื้นที่สำรวจสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในซอยสุขุมวิท 39 มาอย่างยาวนาน ทำให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ลักษณะภายในซอยค่อนข้างมีความเป็นคอขวดแคบ การวิ่งสวนเลนสัญจรกันเกิดขึ้นทุกวัน คนเดินไม่มีไหล่ทางให้เดิน ต้องมีคนช่วยโบก แต่อยากให้นึกภาพปริมาณรถที่จะเข้ามามากขึ้นในวันข้างหน้าว่าจะสัญจรกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรถเทปูนก่อสร้าง หรือรถดับเพลิง ทำให้เกิดปัญหามีปากเสียงกันได้ระหว่างผู้สัญจรบนท้องถนน นอกจากนี้ ยังมีพี่วินมอเตอร์ไซค์และชาวบ้านบางส่วนสะท้อนว่า การสัญจรภายในซอยมีความติดขัดแทบทุกช่วงเวลา ขนาดมอเตอร์ไซค์ยังเคลื่อนตัวไปยาก แล้วรถยนต์จะขนาดไหน จึงไม่อยากให้มีการก่อสร้างขึ้น

ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวสะท้อนข้อกังวล ข้อสังเกตและประเด็นสำคัญต่อบริษัทเจ้าของโครงการฯ และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ว่า กรณีข้อสังเกตการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทหรือที่ปรึกษาในเรื่องของความไม่โปร่งใสความไม่เป็นกลางและขาดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ (จากเอกสารชี้แจงตัวแทนชุมชนซอยพร้อมมิตร สุขุมวิท 39 วันที่ 21 ม.ค.68 เรื่องขอความร่วมมือในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเรน 39 ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ก.พ.68) ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อมีการถามเรื่องการจดบันทึกรายงานการประชุมที่ไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกมือลงมติในการแสดงความคิดเห็น หรือข้อกังวลจากผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในแง่ลบอย่างรุนแรง ต้องการให้ตอบข้อซักถามที่ยังไม่สามารถตอบได้

รวมถึงการลงมติเป็นเอกฉันท์เพื่อยื่นให้กับที่ปรึกษา จากชุมชนที่มาเข้าร่วมประชุม 34 ราย เกี่ยวกับความคิดเห็น ข้อกังวล รวมถึงความเห็นชอบที่อยากจะให้ขึ้นโครงการหรือไม่ ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือเป็นสิ่งที่บริษัทที่ปรึกษาต้องรับฟังเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือเชิญประชุมฯ รวมถึงกฎหมาย EIA หรือไม่“ 


แต่ปรากฏว่าข้อชี้แจงที่ได้รับ คือ “ที่ปรึกษาได้ดำเนินการตามประกาศสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2566 ที่ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องมีการนำประเด็นการลงมติมาพิจารณา“ จึงเล็งเห็นว่าการยกมือลงมติของผู้ได้รับผลกระทบควรได้รับการบันทึกไว้

ขณะที่ บริษัท ตถาตา สิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) ชี้แจงว่า ที่ประชุมมีการยกมือคัดค้านจริง แต่ทางบริษัทได้ยกออกมาเพื่อพ้อยท์เป็นประเด็นแทน เนื่องด้วยหลักการ EIA ของไทย มีหน้าที่รับฟังความเห็นของทุกท่านเพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญงานได้พิจารณาข้อห่วงกังวลดังกล่าว EIA ของไทยมีหน้าที่เพียงเท่านี้ เรามีหน้าที่กลั่นกรองว่าห่วงเรื่องใด อาทิ เรื่องการจราจรติดขัด เราก็เน้นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าการจราจรติดขัดอย่างไร ส่วนคนอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ให้ก่อสร้าง คือ หน่วยงานอนุญาต ทั้งนี้ เราพยายามรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลของทุกท่าน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย 

ด้านตัวแทนเจ้าของโครงการ กล่าวว่า ตนให้ความมั่นใจต่อผู้ร่วมประชุมทุกคน และต้องกล่าวขอโทษต่อการบันทึกของทางที่ปรึกษาฯ ที่อาจมองมุมรับฟังความคิดเห็นที่ทำมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในบรรดาโครงการที่เราได้ทำมา น้อยมากที่จะมีการขอเรื่องลงมติหรือขอมติ ดังนั้น ที่ปรึกษาฯ อาจไม่รอบคอบครบถ้วนตรงนี้ แต่เราจะพยายามกำกับติดตามมติ หรือการออกเสียงต่าง ๆ ให้ที่ปรึกษาบันทึกไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ทุกท่านมั่นใจว่าเราไม่ได้สนับสนุนหรือมีเจตนาที่จะส่งข้อมูลที่ปิดบังหรือไม่เป็นกลาง 

ขอเรียนให้ความมั่นใจ ทั้งนี้ โครงการที่เราพัฒนา เราไม่ได้พัฒน่าเพื่อที่จะให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ แต่ในเรื่องความกังวลด้านการจราจรดังกล่าวหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในซอยสุขุมวิท 39 เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรได้ประเมินผลกระทบให้ด้วย

ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ ซอยสุขุมวิท 39 เข้าขั้นวิกฤติด้านการจราจร ถ้าหากว่าตัวโครงการได้มีการก่อสร้างก็จะยิ่งวิกฤติมากขึ้น นอกจากนี้หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ไม่มีใครคาดคิด ถึงแม้จะเข้าซอยสุขุมวิท 49 ซึ่งเป็นทางที่มีความกว้างของซอยมากกว่าในซอยสุขุมวิท 39 แต่กลับยังใช้เวลามากกว่า 8 นาที จึงเป็นข้อกังวลมากว่า หากเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารใดภายในซอยสุขุมวิท 39 ก็ตาม กว่าระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาถึง ซึ่งมันจะกลายเป็นอุปสรรคและกระจายความเสียหายในวงกว้าง

ด้านตัวแทนเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยคลองเตย ชี้แจงว่า สำหรับเวลา 8 นาทีดังกล่าวที่มาการถกหารือกันนั้น ขอเรียนว่ามันเป็นเวลามาตรฐานการปฎิบัติงานที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องถึงจุดเกิดเหตุภายใน 8 นาที แต่ความจริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการสัญจรภายในซอยสุขุมวิท 39 มีความแคบจริง แต่ตนมีหน้าที่ในการดับเพลิง ต้องไปให้ถึงหน้างานจุดเกิดเหตุเท่านั้น เพราะผู้บริหารได้ให้นโยบายว่าต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาทีไม่ว่าจะพื้นที่แบบใดก็ตาม แต่ถ้าเวลาถึงที่เกิดเหตุแล้วมันจะเกินไปกี่นาที มันก็ตามสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ยอมรับว่าสภาพภายในซอยสุขุมวิท 39 จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะถึงภายใน 8 นาที ยิ่งเวลาตอนกลางวันหรือเวลาเลิกงานก็เป็นไปไม่ได้ 

ส่วน ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพรับจ้างวินมอเตอร์ไซค์ภายในซอยสุขุมวิท 39 ระบุว่า ภายในซอยค่อนข้างมีรถรับส่งที่เข้า-ออก เพื่อรับนักเรียน ซึ่งมีทั้งจำนวนรถจากโรงเรียน รถตู้บัสวิ่งสัญจร อีกทั้งในช่วงเย็นต่อเนื่องกับช่วงที่คนเลิกงานจะกลับเข้าบ้าน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สาหัสมาก ยิ่งบางครั้งฝนตกก็จะสาหัส


ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ สรุปว่า สำหรับข้อกังวลของทุกท่านวันนี้ ประกอบด้วย ประเด็นเรื่องการจราจรติดขัดล้มเหลว เพราะภายในซอยสุขุมวิท 39 ถือเป็นซอยชุมชนหนาแน่น เพราะขนาดความกว้างของซอยมีเพียง 4.6 เมตร อยากสอบถามว่าผู้คนคนขับขี่จะสัญจรภายในซอยอย่างไร และด้วยความเเคบของซอย หากเกิดเหตุอัคคีภัยขึ้นมา รถดับเพลิงเข้ามาไม่ทันอาจไหม้ลุกลาม อีกทั้งตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 วัตถุประสงค์ คือ ดูแลความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของชุมชน จึงต้องดูที่วัตถุประสงค์

โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาการฟ้องศาลปกครองสูงสุด (กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) ที่มีการฟ้องร้องระหว่างชุมชน และ กฟผ. และรัฐธรรมนูญไทยอยู่เหนือกว่าพระราชบัญญัติ ที่ให้คุ้มครองสิทธิประชาชนในการมีสุขภาพดีและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าเราไม่ใช่คนที่คัดค้านหัวชนฝา แต่เราได้จัดทำแนวทางประนีประนอมที่ชุมชนอาจจะพิจารณา ได้แก่ 1.ขยายความกว้างของซอย พร้อมมิตรมุ่งหน้าไปสุขุมวิท 39 จาก 4.6 เมตรให้เป็น 6 เมตรตามกฎหมายกำหนด เพราะเป็นทางเข้า-ออกหลัก 2.ลดปริมาณห้องลงไม่เกิน 50 ห้อง และ 3.เปลี่ยนเป็นการพัฒนาโครงการแนวราบบ้านหรูราคาแพง 6-10 หลังแทนการสร้างคอนโดมิเนียม 291 ยูนิต ความสูง 7 ชั้น 

ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวเสริมว่า ตัวเองเป็นนักลงทุนเหมือนกัน แต่อยากขอเสนอแนวทางที่ 4 คือ ขอให้ทางโครงการรู้ตัวว่าคุณตัดสินใจผิด คุณควรยอมยอมขาดทุน เพราะคุณเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไรกับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้ง และตนก็ไม่รู้ว่าโครงการของคุณจะก่อสร้างได้หรือไม่ เพราะอาจเกิดการถูกรื้อถอนภายหลังได้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือว่าไม่ได้รับการยอมรับจากพวกเราเลย แล้วทางบริษัทนักลงทุนคนญี่ปุ่นจะคิดอย่างไรถ้าหากว่าการก่อสร้างนั้นทำให้เดือดร้อนแก่ผู้อื่น ตนอยากให้โครงการได้ลองไปคิดดูใหม่ในเรื่องการก่อสร้าง ถ้าหากจะเปลี่ยนไปสร้างเป็นบ้านแทนคอนโดฯ ก็ต้องขยายเรื่องถนนด้วย แต่ถ้าไม่ได้ตนขอเสนอว่าให้โครงการยอมแพ้การก่อสร้างไป

ขณะที่ ตัวแทนเจ้าของโครงการ กล่าวว่า สำหรับแนวทางประนีประนอมที่ชุมชนอาจจะพิจารณา ซึ่งได้เสนอมานั้น ตนให้ความเห็นเบื้องต้นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อย่างไรตนให้ที่ปรึกษาของโครงการได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียด แต่ขอย้ำว่าไม่ได้รับปาก แต่เพียงจะเก็บไปพิจารณา และในวันนี้เราไม่ได้มาเพื่อคัดค้านหัวชนฝา เพราะเราเป็นนักพัฒนาที่ได้มีการทำโครงการอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ แต่เรายินดีที่จะรับฟังในทุกข้อกังวลของท่าน เพื่อเอาไปนำเสนอผู้ถือหุ้นและผู้มีอำนาจในเรื่องของการก่อสร้างโครงการ จึงขอเรียนว่าเราเข้าใจในทุกข้อห่วงกังวล การสะท้อนความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบในวันนี้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้จัดทำเอกสารการนำเสนอแผนงานช่วงก่อสร้างโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ว่า ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน คนงานก่อสร้าง จำนวน 200 คน โดยใน 1 เดือนแรก จะเป็นการรื้อถอนอาคาร ส่วน 7 เดือน เป็นงานปรับพื้นที่ งานเสาเข็ม งานดินและฐานราก ส่วนเวลา 19 เดือน จะเป็นงานโครงสร้างและสถาปัตยกรรม ส่วน 20 เดือน จะเป็นงานระบบวิศวกรรม งานระบบสาธารณูปโภค ส่วน 8 เดือน งานตกแต่งภายใน และเวลา 3 เดือน งานจัดสวนงานทำความสะอาด ขณะที่ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะรื้อถอน ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ซึ่งมีการระบุรายละเอียดในทุกปัญหาสำคัญ ทั้งปัญหาฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ความสั่นสะเทือน ทรัพยากรดิน คุณภาพน้ำผิวดิน การจราจร การระบายน้ำและป้องกันน้ำ การจัดการมูลฝอย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การบดบังคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ สุนทรียภาพ และรวมไปถึงการรับเรื่องร้องเรียน .