สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที 16 ก.พ. ว่างานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้จากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ติดตามจระเข้น้ำเค็มป่าจำนวน 203 ตัว ในแม่น้ำหลายสาย บนคาบสมุทรเคปยอร์ก ที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของออสเตรเลีย เป็นระยะเวลานาน 15 ปี
นักวิจัยพบว่า จระเข้มีช่วงเวลาที่อุณหภูมิร่างกายเกือบถึงหรือถึงขีดจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอุณหภูมิของร่างกายของจระเข้มีขีดจำกัดอยู่ที่ 32-33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมินี้สามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำน้ำและว่ายน้ำของพวกมัน
การศึกษาพบว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา อุณหภูมิสภาพแวดล้อมสูงสุดที่จระเข้ต้องเผชิญนั้น เพิ่มสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิร่างกายของจระเข้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.11 องศาเซลเซียส และในกลุ่มจระเข้ที่ถูกติดตามนั้นมีจระเข้ 45 ตัวที่เคยมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 34 องศาเซลเซียส อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น พวกมันจึงไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เอง แต่ต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมภายนอก สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นทำให้จระเข้ใช้เวลามากขึ้น ไปกับพฤติกรรมการระบายความร้อนออกจากร่างกาย และเมื่อพวกมันต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการระบายความร้อน กิจกรรมที่จำเป็นต่อการล่า เอาตัวรอดจากนักล่า หรือสืบพันธุ์ ก็จะลดลง
อนึ่งจระเข้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติจะดำน้ำได้ไม่นานเท่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลกระทบ ต่อความสามารถในการซุ่มโจมตีเหยื่อ.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : AFP