เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อมสมาชิกได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอความอนุเคราะห์ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจำนวน 5 ข้อดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานตรึงราคาน้ำมันดีเซล (B7) ราคาขายปลีก 25 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี ในช่วงสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19, วิกฤติสภาวะเศรษฐกิจ และวิกฤตอุทกภัย ภัยพิบัติต่างๆ จนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย 2.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโดยหารายได้จากส่วนอื่นๆ มาทดแทน เช่น ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น 

นายทองอยู่ กล่าวต่อว่า 3.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เอาเปรียบประชาชน และผู้บริโภคน้ำมันในระบบผูกขาด ตัดตอนจนเกินไป 4. ราคา ณ โรงกลั่นของไทย ต้องเท่ากับราคาสิงคโปร์ ที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป (ราคา ณ โรงกลั่นต้องเท่ากัน) และ 5.ในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ต้องลดค่าการตลาด เงินกองทุนต่างๆ ยกเลิกค่าธรรมเนียมต่างๆ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกินไปและเป็นการผลักภาระและสร้างกำไรทางธุรกิจที่ขาดหลักจริยธรรม

และคุณธรรมทางธุรกิจกึ่งผูกขาด บนความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกการนำเอาไบโอดีเซล (B100) มาผสม กับน้ำมันที่มาจากน้ำมันดิบเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี เพราะราคาต่อลิตรสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ มากเกินไป ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสูงเกินความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานมีทางเลือกในการดำเนินการ เพื่อปรับลดราคาน้ำมันให้เหมาะสมและเป็นธรรมในช่วงวิกฤติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งแผ่นดินให้มีความสุข สร้างความสุขให้คนทั้งประเทศ  

นายทองอยู่ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทราบมาว่าในวันที่ 5 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งสหพันธ์ฯ จะขอดูผลการประชุมครั้งนี้ก่อนว่าได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ หากไม่มีสหพันธ์ฯ จะต้องประชุมหารือร่วมกับแนวร่วมภาคประชาชน เพื่อเตรียมดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ยกระดับการกดดันรัฐบาลต่อไป คือการจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พลังของคนรถบรรทุก (Truck Power) ซีซั่น 2 ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ที่จะมีการรวมตัวของรถบรรทุกมากกว่า 1,000 คัน บนเส้นทางต่างๆ ตามแผนงานที่ได้จัดเตรียมไว้

หลังจากที่สหพันธ์ฯ โดยมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหยุดเดินรถ 20% มาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และหยุดเดินรถจนถึงวันที่ 7 พ.ย.นี้ เพื่อให้ครบกำหนด 7 วันตามเป้าหมายเบื้องต้น เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีความคืบหน้าของรัฐบาลที่จะแก้ไขราคาน้ำมันจะพิจารณาขยายระยะเวลาหยุดเดินรถต่ออีก เช่น 15-30 วัน ตามความเหมาะสมต่อไป