อาหารติดคอหรือการสำลักอาหาร เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ขณะรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ควรประมาท แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ต้องได้รับการปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีและด้วยวิธีที่ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
มีเกร็ดความรู้จาก “โรงพยาบาลเพชรเวช” ที่บอกเล่าคำแนะนำเกี่ยวกับอาการอาหารติดคอ ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะกลืนอาหารซึ่งจะผ่านโคนลิ้นเข้าไปในคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร กล่องเสียงจะยกขึ้นมาชิดกับฝาปิดร่วมกับการกลั้นหายใจ เพื่อไม่ให้เศษอาหารติดอยู่ในหลอดลม เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าสู่ทางเดินอากาศหายใจขณะอาหารอยู่ในช่องปากจึงเกิดการสำลัก ฝาปิดกล่องเสียงจะเปิดพร้อมกับการหายใจเข้าอย่างแรง สิ่งที่เราเคี้ยวเข้าไปจึงติดอยู่บริเวณอวัยวะทางเดินอาหารหรือช่วงทรวงอก

สาเหตุที่ทำให้อาหารติดคอ
@ ความประมาท เช่น การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รีบรับประทานจนเกินไป ไม่ระมัดระวังกระดูกจากเนื้อสัตว์หรือเมล็ดผลไม้
@ กรณีของเด็กเล็ก เป็นวัยที่มักหยิบจับอะไรเข้าปาก ซึ่งบางอย่างไม่ใช่ของที่รับประทาน จึงทำให้ติดคอได้ และฟันกรามยังไม่แข็งแรงพอจะเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่
@ อุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือเพิ่งได้รับการรักษาทางทันตกรรมและช่องปาก
@ โรคหรือภาวะความผิดปกติ อาทิ ภาวะหลอดอาหารเป็นอัมพาต โรคประสาทที่ส่งผลต่อการกลืน ผู้ป่วยทางจิตเวช
การวินิจฉัยอาหารติดคอ
ในขั้นแรก แพทย์จะซักประวัติ ถามอาการเจ็บปวดที่ตรงบริเวณใด อาหารที่รับประทานครั้งล่าสุดคืออะไร จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยการดูคอ หากมีเศษอาหารติดค้างอยู่ที่บริเวณโคนลิ้น ต่อมทอนซิล แพทย์จะใช้เครื่องมือคีบออกมา แต่หากไม่พบ จะใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีนำมาหาความผิดปกติที่หน้าอก หรือช่องท้อง ได้แก่ การเอกซเรย์ เครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สอดกล่องส่องเข้าไปในปาก

ปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่ออาหารติดคอ
กรณีเด็กเล็ก
1.จัดท่าทางของน้องให้นอนคว่ำหน้าพาดท่อนแขนไว้
2.ประคองศีรษะให้ต่ำกว่าลำตัว
3.ใช้ฝ่ามือกระแทกบริเวณสะบักด้านหลัง
4.สลับกับการนอนหงาย 5 ครั้ง ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว
5.หากเห็นสิ่งแปลกปลอมในปาก ให้ล้วงออก
6.หากทำแล้ว 3 ครั้ง อาการยังไม่ดีขึ้น รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
กรณีเด็กโตหรือผู้ใหญ่
1.ยืนอยู่ด้านหลังผู้ป่วย
2.โอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำแล้วหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปที่หน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้เหนือสะดือแต่สูงต่ำกว่าลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้
3.รัดกระตุกที่หน้าท้องเข้าพร้อมกันแรงๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือผู้ป่วยสามารถพูด ร้องออกมาได้
4.โทรแจ้งเจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

กรณีผู้ป่วยหมดสติ
1.จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วทำซีพีอาร์
2.กดหน้าอกนวดหัวใจ ช่วยหายใจโดยการเปิดปากนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
วิธีป้องกันอาหารติดคอ
เด็กเล็ก
1.สั่งสอนห้ามนำสิ่งของเข้าปาก
2.แสดงท่าทางขณะรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะให้เป็นตัวอย่าง ไม่โยนอาหารเข้าปากให้เห็น
3.ระมัดระวังเศษกระดูก ก้างปลา เมล็ดผลไม้ ก่อนรับประทานอาหาร
4.เลือกเมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับความแข็งแรงของฟัน
สำหรับผู้ใหญ่
1.ควรระมัดระวังขณะรับประทานอาหารโดยการนั่งตัวตรง และเมื่ออิ่มเสร็จแล้วห้ามนอนทันที แต่ควรนั่งพักหรือเดินย่อย 15-20 นาที
2.แบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็กพอดีคำ
3.เคี้ยวให้ละเอียดอย่างช้าๆ
4.หากเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหาร รวมทั้งการพูดคุยหรือเดิน
5.รับประทานอาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่าย ไม่ฝืดคอ
6.หากเป็นอาหารที่แข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้นุ่มขึ้น
อุบัติอาหารติดคอสามารถทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผลบริเวณหลอดอาหารได้ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตลงในที่สุด ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุนี้ขณะรับประทานอาหาร และได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างปลอดภัยแล้ว ควรไปรับตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้.