เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผบช.ภ.3/ประธาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิวัฒน์ สีลาเขตต์ รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.อิทธิพล นาคคำ รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.ชาญชัย พงษ์พิชิตกุล รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.ลาภ ศรีสำอางค์ รอง จตร. ช่วยราชการ ภ.3, ผบก. และรอง ผบก. ในสังกัด ภ.3, หน.สภ.ในสังกัด ภ.3, ผกก.ฝอ.1 – 6 บก.อก.ภ.3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมบริหารตำรวจภูธรภาค 3 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ห้องประชุมสุรนารายณ์ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 3 ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พล.ต.ท.วัฒนา เปิดเผยว่า ตอนนี้ในพื้นที่ บช.ภ.3 ตนได้นำกลยุทธ์ “สตอป แอนด์ ดีสทรอย” (Stop & Destroy) มาใช้ในการปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ และยโสธร โดยยุทธวิธีนี้ เน้นการสกัดกั้นและทำลายภัยคุกคามที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสังคม เช่น ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ, อาชญากรติดอาวุธ, กลุ่มผู้ก่อการร้าย และเครือข่ายอาชญากรรมขนาดใหญ่ ที่แฝงตัวอยู่ในแนวตะเข็บชายแดน โดยใช้การปิดล้อม หยุดยั้ง และดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ความหมายของ “สตอป แอนด์ ดีสทรอย” (Stop & Destroy) ซึ่งสตอป (Stop) คือสกัดกั้น และหยุดยั้ง คือเป้าหมายหลักของขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสกัดกั้นเป้าหมาย โดยใช้วิธีการ เช่น ตั้งด่านตรวจ เพื่อป้องกันการหลบหนี วางกำลังปิดล้อมพื้นที่ ใช้โดรน และอุปกรณ์พิเศษ ในการติดตาม เจรจาเกลี้ยกล่อม เพื่อให้เป้าหมายมอบตัว โดยสมัครใจ
ส่วน ดีสทรอย (Destroy) คือทำลายล้างภัยคุกคาม เพราะหากมาตรการ “หยุด” ไม่สามารถใช้ได้ หรือเป้าหมายยังคงก่อให้เกิด อันตรายร้ายแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เช่น ยิงตอบโต้ เพื่อหยุดภัยคุกคาม ใช้ยุทธวิธีเฉพาะ เพื่อเข้าควบคุมตัว ใช้กำลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย
โดยหลักการสำคัญของ “สตอป แอนด์ ดีสทรอย” สรุปก็คือการใช้กำลังตามความจำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ให้โอกาสมอบตัวก่อนเสมอ ใช้แนวทางที่ละมุนละม่อมก่อน ปกป้องประชาชนเป็นอันดับแรก ลดผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ ให้มากที่สุด