นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” เป็นกิจกรรมที่กรมประมงได้ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำเป็นธนาคารสัตว์น้ำของชุมชน ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ตามแผนปฏิบัติงาน (Action plan) ประจำแหล่งน้ำที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น ภายใต้หลักการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึง สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ปัจจุบันมีธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำเกิดขึ้นกว่า 180 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 12,000 ราย สร้างรายได้เข้ากองทุนโครงการฯ กว่า 20 ล้านบาท
ซึ่งในปี 2568 กรมประมงจะขยายการดำเนินการในแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติมอีก 20 แห่ง และยังคงติดตามการดำเนินการในแหล่งน้ำเก่า 40 แห่ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการฯ โดยในส่วนของจังหวัดมหาสารคามมีแหล่งน้ำที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ แหล่งน้ำหนองส้มโฮง ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย, แหล่งน้ำหนองกุง ตำบลเสือโก้ก อำเภอวาปีปทุม, แหล่งน้ำหนองโน ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน, แหล่งน้ำหนองพระราชดำริ ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก และแหล่งน้ำหนองโสกแบ่ง ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก
สำหรับ “แหล่งน้ำหนองโสกแบ่ง” เป็นแหล่งน้ำปิด มีพื้นที่ขนาด 12 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่โดยรอบทั้งหมด 129 ครัวเรือน เดิมชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ กรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม จึงได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างเป็นศูนย์กลางการผลิตสัตว์น้ำของชุมชน ตั้งแต่ปี 2567 โดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ และเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำตลอดการดำเนินโครงการฯ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประมงต่าง ๆ อาทิ การลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำด้วยการเพิ่มอาหารธรรมชาติจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ ฯลฯ รวมถึง ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงกบนาและแหนแดงเพื่อลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์น้ำซึ่งสามารถจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรได้อีกด้วย ปัจจุบันแหล่งน้ำหนองโสกแบ่งมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 61 ราย 127 หุ้น แบ่งออกเป็น การร่วมระดมหุ้น จำนวน 50 หุ้น และการนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ฟางข้าว มาแลกเปลี่ยนเป็นหุ้นอีก 77 หุ้น เพื่อลดการสร้างมลภาวะที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2568 จะมีการจัดกิจกรรมเปิดจับสัตว์น้ำ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และมีเงินปันผลคืนสู่ชุมชนและสมาชิกโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “แหล่งน้ำหนองโสกแบ่ง” จะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เป็นธนาคารสัตว์น้ำของชุมชน สามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำได้เพียงพอต่อการบริโภค ช่วยยกระดับรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน