ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวถึงกรณีเคสอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้นพลิกคว่ำข้ามแบริเออร์ที่เขาโทน บนทางหลวงหมายเลข 304 อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ในเฟซบุ๊ก Thailand Accident Research Center เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า เหมือนหนังเก่าย้อนเวลามาฉายใหม่ เพราะเมื่อในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เคสอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้นที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนบริเวณนี้ ก็เกิดมาแล้วหลายครั้ง ยังไม่นับรวมรถประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่ก็เกิดอุบัติเหตุบนนถนนในบริเวณนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ถ้าคนที่เคยติดตามความเป็นมาเป็นไปของถนนช่วงนี้ จะจำได้กว่าสมัยก่อน ถนนช่วงนี้ยังเป็นถนนสองเลนสวน วิ่งผ่านทางเขาลาดชันอยู่ แต่ละครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ก็มักจะเป็นรถขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสสองชั้น หรือรถบรรทุกที่วิ่งลงเขามา แล้วเบรกไม่อยู่ เสียหลักพุ่งเข้าชนข้างทางหรือไม่ก็กวาดชนกับรถคันอื่นๆ ที่ขับสวนขึ้นมาในอีกทิศทางหนึ่ง เรียกได้ว่ามีผู้เสียชีวิตมาแล้วเป็นจำนวนมากบนถนนช่วงนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้งเข้า กรมทางหลวงก็ได้ขยายถนนให้เป็นถนนที่มีเกาะกลาง ข้างละ 3 ช่องจราจร รวมถึงก่อสร้างทางออกฉุกเฉิน (Emergency Escape Ramp) ก็ช่วยลดความเสี่ยงในกรณีรถเบรกไม่อยู่แล้วเสียหลักไปชนรถคันอื่นได้ในระดับหนึ่ง จนเคสอุบัติเหตุรุนแรงก็หายไปพักหนึ่งหลังจากมีการขยายถนน จนมาถึงเคสล่าสุด ที่เป็นคณะทัศนาจรที่โดยสารรถบัส 2 ชั้นมาจาก จ.บึงกาฬ แล้วมาเกิดอุบัติเหตุ ณ ช่วงถนนบริเวณนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18 ราย

จริงๆ แล้ว เท่าที่ติดตามข่าวมา ก็มีเคสอุบัติเหตุที่คนขับรถควบคุมเบรกไม่อยู่ขณะขับผ่านทางเขาช่วงนี้ให้เห็นอยู่บ้างแต่เหตุที่เกิดไม่ได้มีความรุนแรงเท่าเคสนี้ เพราะช่องโหว่ขององค์ประกอบต่างๆ ของเคสอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้า อาจไม่ได้มาเจอกันในทุกมิติแบบที่เกิดขึ้นกับในเคสนี้ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มักไม่พ้นจากการเริ่มต้นที่ตัวคนขับรถ เช่นเดียวกับในเคสนี้ ที่คนขับรถบัส 2 ชั้นน่าจะขาดทักษะในการขับขี่ขณะลงเขาที่มีความลาดชันสูง และเป็นระยะทางยาวๆ ทักษะในการใช้เกียร์สำหรับควบคุมความเร็ว การใช้เบรก ที่ไม่สามารถควบคุมรถให้ลงเขามาอย่างปกติได้ ในขณะที่คนขับรถบัสอีก 2 คันที่มาด้วยกัน กลับไม่มีปัญหาใดๆ ในการขับรถผ่านเส้นทางเดียวกันนี้

พอถึงจุดที่ควบคุมรถไม่อยู่ คนขับก็เลยมีความพยายามที่จะดึงรถออกข้างทาง ซึ่งในอดีตก็เคยมีเคสลักษณะแบบนี้มาแล้ว ที่คนขับรถพยายามทำแบบเดียวกัน คือตัดสินใจหักรถออกข้างทาง หรือวิ่งเขัาไปตรงช่องทางออกฉุกเฉินที่จะช่วยหยุดรถให้ปลอดภัย แต่เคสที่รอดเหล่านั้น คนขับรถใช้ความชำนาญและประสบการณ์ ก็ทำให้สามารถลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่พอดีในเคสนี้ คนขับรถตัดสินใจที่จะหักรถออกข้างทาง แต่บริเวณที่คนขับพยายามหักรถเข้าไปชนแบริเออร์ ไม่ได้ปลอดภัยเหมือนเคสที่เคยรอดมาแล้ว เพราะหลังแบริเออร์นั้นเป็นเนินหินหรือเป็นภูเขาดีๆ นี่เอง พอเอารถที่มีความสูงมากกว่า 4 ม.พุ่งเข้าชนแบริเออร์ ที่มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 80 ซม. (ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันอยู่ทั่วประเทศ) แน่นอนว่าแบริเออร์สูงระดับนี้ เอารถบัส 2 ชั้นไม่อยู่แน่นอน แบริเออร์เลยเหมือนเป็นจุดให้รถพลิกข้ามไป เจอเนินหิน กระแทกเข้าอีก เป็นผลทำให้หลังคาเปิดออก ถ้าผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ก็จะกระเด็นออกมาทันที

การลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของเคสนี้ อาจทำได้ในหลายประเด็นด้วยกัน
1.จากการตรวจสอบของกรมการขนส่งทางบก พบว่ารถบัสคันนี้ ไม่ได้หยุดตรวจตรงจุดเช็กพอยท์ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้ ซึ่งถ้าได้มีการหยุดตรวจก่อนหน้านี้ ตัวรถและตัวคนขับก็อาจจะได้พักบ้าง มีเวลาให้เครื่องยนต์ได้พักและปั๊มลมเข้าไปเติมในถังพักลมเบรกได้เต็มที่ ก่อนที่จะมีการขับลงเขายาวลงมา

2.ถ้าคนขับมีทักษะในการขับรถลงเขา มีทักษะในการใช้เกียร์ ใช้เบรก ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ที่ลมเบรกหมด ทำให้ควบคุมรถไม่อยู่ และถ้าคนขับมีความชำนาญและประสบการณ์เพียงพอ ก็น่าที่จะตัดสินใจหักรถออกข้างทางได้อย่างปลอดภัย หรือทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุน้อยกว่านี้ รวมถึงการตัดสินใจในการใช้ช่องทางออกฉุกเฉินที่มีอยู่ถึง 2 แห่ง ประมาณ 500 ม. ก่อนและหลังถึงจุดเกิดเหตุ ก็อาจช่วยหยุดรถได้อย่างปลอดภัยด้วย

3.ถ้าแบริเออร์ที่ใช้ในการป้องกันรถตกข้างทาง เป็นแบริเออร์ที่มีความสูงเพียงพอที่จะป้องกันการตกข้างทางของรถขนาดใหญ่ได้ ก็จะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ด้วย ในต่างประเทศถนนที่เป็นทางเขาแบบนี้ ซึ่งเป็นถนนที่มีความเสี่ยงสูง จะมีการใช้แบริเออร์ในระดับที่มีมาตรฐานสูงกว่าปกติ เรียกว่า High Containment Barrier ซึ่งต้องมีการทดสอบการชนว่าสามารถป้องกันรถขนาดใหญ่ได้ เมื่อพิจารณาลักษณะถนนแบบในบริเวณที่เกิดเหตุ ถ้ามีรถโดยสารหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่สัญจรอยู่เป็นจำนวนมาก อาจต้องใช้แบริเออร์สูงถึง 1.00-1.50 ม. เพื่อป้องกันรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงตั้งแต่ 3.6-4 ม.

4.ถ้ารถบัสที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถที่มีความสูงต่ำลงมา หรือไม่ใช่รถโดยสารสองชั้น โอกาสในการพลิกคว่ำก็จะน้อยกว่า

5.ถ้าโครงสร้างตัวรถมีความแข็งแรง หลังคารถก็อาจไม่เปิดจากการกระแทก ซึ่งเท่าที่ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุรถบัสสองชั้นพลิกคว่ำ หรือรถบัสสองชั้นไปชนต้นไม้หรือของแข็งใดๆ หลังคามักจะเปิดออกก่อนเสมอ จุดเปราะบริเวณโครงหลังคาก็คือข้อต่อที่มีเหล็กเป็นท่อนๆ มาเชื่อมกัน แล้วข้อต่อเหล่านี้ก็จะหลุดก่อนเมื่อมีการกระแทกกับของแข็ง

6.ถ้าผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย โอกาสที่จะกระเด็นออกมานอกตัวรถ หรือกระแทกกับของแข็งภายในรถก็จะน้อยกว่า

7.ถ้ามีการวางแผนในการเดินทาง เป็นการเดินทางในเวลากลางวันแทนที่จะเดินทางในเวลากลางคืน คนขับก็อาจจะสามารถมองเห็นสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ชัดเจนกว่า การตัดสินใจที่จะกระทำการใดๆ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอาจทำได้ดีกว่า

ดังนั้น บทสรุปของเคสอุบัติเหตุในครั้งนี้ จึงไม่อยากให้มองว่าความผิดไปอยู่ที่คนขับรถเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าไม่มีช่องโหว่ในองค์ประกอบอื่นๆ มาร่วมด้วย เคสอุบัติเหตุนี้ก็อาจจะเหมือนเคสที่รอดอื่นๆ ก่อนหน้า ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุก็จริง แต่ไม่ได้เกิดความสูญเสียมากมายขนาดนี้.