เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 1 มี.ค. น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2567 พบว่า อัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 10-14 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 0.93 ต่อพันคน เกินเป้าหมายที่กำหนด จากข้อมูล ดิพาร์ทเมนท์ ออฟ เฮลธ์ (ดีโอเฮช) แดชบอร์ด ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 0.77 ต่อพันคน เกินกว่าเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.7 ต่อพันคน
น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เร่งวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มความรู้ด้านเพศศึกษาและการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม ขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพและที่ปรึกษาสำหรับวัยรุ่น เน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน รวมทั้งการให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน 1663 ทั้งนี้ ยอดขอคำปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 10-14 ปี พบว่าเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ขอรับคำปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อม ผ่านช่องทางออนไลน์และสายด่วน รวม 46,893 ราย หรือเฉลี่ย 128 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 44,574 ราย
น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า สาเหตุหลักของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเด็กหญิงอายุ 10-14 ปี ได้แก่ 1.ขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ทำให้ไม่ได้ป้องกันตนเองในการมีเพศสัมพันธ์ 2.การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือรวมถึงการขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วน 1663 เป็นช่องทางสำคัญในการส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่เหมาะสม ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ หรือทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามกฎหมาย
น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการ คือ 1.ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาเชิงรุกในโรงเรียนและครอบครัว 2.ขยายช่องทางปรึกษาที่เข้าถึงง่าย ผ่านโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ 3.ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดที่ปลอดภัย และ 4.พัฒนาโครงการช่วยเหลือแม่วัยใส ให้เข้าถึงการศึกษาต่อและโอกาสทางอาชีพตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความจำเป็นในการป้องกันปัญหาเชิงระบบ เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น และช่วยให้เด็กหญิงกลุ่มเสี่ยงมีอนาคตที่ดีขึ้น
”รัฐบาลตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น และมุ่งมั่นแก้ไขอย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยเร่งดำเนินมาตรการป้องกัน คุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการขยายการเข้าถึงความรู้ด้านเพศศึกษา การคุมกำเนิด และบริการปรึกษาอย่างครอบคลุม เพื่อให้เยาวชนมีทางเลือกที่ปลอดภัยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1663 ตลอด 24 ชั่วโมง“ น.ส.ศศิกานต์ กล่าว