นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทย. ได้ออกแบบงานก่อสร้างขยายทางวิ่ง(รันเวย์) ทางขับ(แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องบิน และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร องค์ประกอบอื่นๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ท่าอากาศยานน่านนคร เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการยื่นแบบฯ เพื่อขออนุญาตแบบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) และกองทัพอากาศ(ทอ.) ขณะเดียวกันได้ยื่นรายงาน EIA แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ(คชก.)

นายดนัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานน่านนคร มีความยาวรันเวย์ 2,000 เมตร รองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งแบบแอร์บัส A320 และโบอิ้ง B737-800 เที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งการออกแบบฯ ครั้งนี้จะขยายความยาวรันเวย์เป็น 2,300 เมตร ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 220 ที่นั่งแบบแอร์บัส A321และโบอิ้ง B737-900 เที่ยวบินทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะเส้นทางที่มาจากภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกบางส่วนได้ อีกทั้งยังรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านได้อย่างดี

นายดนัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของอาคารผู้โดยสารจะมีการปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร จากเดิมรองรับได้ 300 คน/ชั่วโมง(ชม.) เพิ่มเป็น 1400 คน/ชม. พร้อมทั้งอาคารจอดรถ สามารถจอดได้ 600 คัน โดยการออกแบบอาคารจะนำเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะของจังหวัดน่าน สไตล์ล้านนามาใช้ในการออกแบบผสมผสานประยุกต์เข้ากับวัสดุสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว วงเงินรวมประมาณ3,890 ล้านบาท ต้องมีการเวนคืนที่ดินด้านทิศเหนือ 134 ไร่ ไปจนถึงแม่น้ำน่านด้วย เพื่อขยายทางวิ่ง ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มดำเนินการเวนคืนในปี 2570-2572 เริ่มก่อสร้างปี 2573-2575 เปิดให้บริการปี 2576

นายดนัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานน่านนคร มีสายการบินให้บริการ 2 สายการบิน ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อวัน(ไป-กลับ) และสายการบินนกแอร์ 1 เที่ยวบินต่อวัน(ไป-กลับ) โดยเมื่อปี 2567 มีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 407,145 คน หรือประมาณวันละ 1,100 คน ส่วนเที่ยวบินประมาณ 2,768 เที่ยวบิน หรือประมาณวันละ 8 เที่ยวบิน ขณะที่ในปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ผู้โดยสารประมาณ 72,525 คน หรือวันละประมาณ 1,200 คน ขณะที่เที่ยวบินมี 474 เที่ยวบิน หรือประมาณวันละ 8 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตามปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน ยังไม่กลับมาปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 620,500-730,000 คน หรือประมาณวันละ 1,700-2,000 คน และมีเที่ยวบินประมาณ 4,380 เที่ยวบิน หรือประมาณวันละ 12 เที่ยวบิน.