อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวอเมริกันแนวล่าสัตว์ป่าโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากที่เธอโพสต์คลิปวิดีโอบนโซเชียลมีเดีย เป็นภาพเหตุการณ์ที่ตัวเองกำลังคว้าลูกวอมแบตป่าจากแม่ของมันที่อยู่ริมถนนแห่งหนึ่ง เพื่อเอามันมาถ่ายรูป ทำคอนเทนต์

คลิปวิดีโอนี้โพสต์โดย แซม โจนส์ ซึ่งมีบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมในชื่อว่า “samstrays_somewhere” และก่อนหน้านี้พบว่า เธอใช้ชื่อว่า ซาแมนธา สเทรเบิล ในสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการล่าสัตว์ เธออ้างว่าตนเองเป็น “นักชีววิทยาสัตว์ป่าและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” 

คลิปวิดีโอที่โจนส์โพสต์ไว้ในส่วนของ Reel บนอินสตาแกรม แสดงให้เห็นภาพที่เธอจับลูกวอมแบตจากข้างถนนแห่งหนึ่งตอนกลางคืน โดยมีชายชาวออสเตรเลียเป็นผู้ถ่ายวิดีโอพร้อมทั้งหัวเราะไม่หยุด

ในขณะที่โจนส์วิ่งข้ามถนนไปพร้อมกับอุ้มลูกสัตว์ที่อยู่ในสภาพหวาดกลัว ตากล้องหนุ่มก็พูดออกมาว่า “ดูแม่มันสิ มันกำลังไล่ตามลูกมันอยู่!”

จากนั้น อินฟลูเอนเซอร์สาวก็ยกตัวลูกวอมแบตที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักและเห็นได้ชัดว่ามันกำลังตื่นตระหนกขึ้นมาหาหน้ากล้อง แล้วก็ยิ้มเพื่อถ่ายรูปไว้ พร้อมทั้งเขียนบรรยายใต้คลิปว่านั่นคือ “ความฝัน” ของเธอที่จะได้อุ้มลูกวอมแบต

เมื่อแม่วอมแบตปรากฏตัวขึ้นข้างๆ หญิงสาว เธอก็พูดว่า “โอเค แม่มันอยู่ตรงนั้น และกำลังโกรธ ก็ปล่อยมันไปดีกว่า” ขณะที่ตากล้องพูดว่า “ไม่ๆ มันไม่เป็นไรหรอก” 

สุดท้าย โจนส์ก็วางลูกวอมแบตลงกับพื้นโดยมีคำบรรยายว่า “แม่ลูกเจอกันอย่างปลอดภัย”

อย่างไรก็ตาม เธอได้ลบวิดีโอดังกล่าวออกไปแล้ว หลังจากเกิดกระแสโต้แย้งและตำหนิการกระทำของเธออย่างรุนแรง 

ขณะที่รายงานข่าวนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่าเหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นที่ใดหรือเมื่อใด แต่คาดว่าเกิดขึ้นที่ออสเตรเลีย เนื่องจากตัววอมแบตเป็นสัตว์พื้นเมืองของประเทศนี้

องค์กร Wildlife Information, Rescue and Education Service หรือ WIRES ซึ่งเป็นองค์กรที่คุ้มครองและช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียยืนยันว่า การกระทำของอินฟลูเอนเซอร์สาวคนนี้ผิดกฎหมายออสเตรเลีย

สัตว์ทุกตัวของประเทศออสเตรเลียได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

บทลงโทษสำหรับความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ โดยมีโทษปรับสูงสุดถึง 148,237 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 ล้านบาท) สำหรับบุคคลทั่วไป และ 157,298 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.3 ล้านบาท) สำหรับองค์กรหรือบริษัท พร้อมด้วยโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

ดร.ทาเนีย บิชอป สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลสัตว์ป่าของ WIRES ชี้ว่า วอมแบตในวิดีโอเป็นลูกสัตว์ที่ยังเล็กมาก อายุน่าจะประมาณ 8 เดือน และต้องพึ่งพาแม่ตลอดเวลา

“มันจะอยู่กับแม่ตลอดเวลา โดยพึ่งพาแม่ในการปกป้องดูแลมัน” เธอกล่าว

การแยกลูกสัตว์ที่ยังเล็กมากออกจากแม่ไม่เพียงเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจเท่านั้น แต่วิธีการที่โจนส์หิ้วตัวมันขึ้นมาแบบในคลิปยังอาจทำให้มันได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

“ตอนที่เธอวิ่งนั้น ไม่มีการรองรับร่างกายท่อนล่างของลูกสัตว์ ตัววอมแบตนั้นหนักมาก โดยเฉพาะท่อนล่าง ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่เธอจะทำให้กระดูกต้นแขนส่วนบนของมันร้าว หรือทำให้ส่วนบนของแขน หรือไหล่ของลูกสัตว์ได้รับความเสียหาย คุณจะเห็นได้ว่าตัวของมันแกว่งไปมา มันยังร้องขู่และส่งเสียงร้อง ซึ่งเป็นสัญญาณของความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง” เธอกล่าวต่อ

“คุณยังเห็นความทุกข์ใจแสนสาหัสของแม่ของมัน เมื่อต้องไล่ตามเธอข้ามถนนมาอีกด้วย” ดร.บิชอปกล่าวเสริม และชี้ว่า โจนส์ยังทำให้แม่วอมแบตตกอยู่ในอันตราย เพราะมีโอกาสที่มันอาจจะโดนรถชนระหว่างวิ่งไล่ตามลูกของมัน 

“นี่ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อสัตว์ป่าของเรา ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักในขณะนี้” เธอกล่าว

วอมแบตกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงจากปัจจัยต่างๆ เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากพายุไซโคลนและไฟ โรค โดนชนตายบนถนนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.บิชอปยังแสดงความเห็นว่า ผู้หญิงเจ้าของคลิปคนนี้เป็นนักล่าสัตว์ และอาจไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพและชีวิตของสัตว์เลย

ต่อมา ชาวออสเตรเลีย โดยเฉพาะชุมชนออนไลน์จำนวนมาก ออกมาประณามพฤติกรรมของโจนส์อย่างรวดเร็ว

“มันไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองมีสิทธิจะทำ แต่มันคือความไม่เคารพผู้อื่น” ผู้ใช้รายหนึ่งเขียนบนเว็บไซต์เรดดิท หลังจากมีผู้นำวิดีโอดังกล่าวมาโพสต์ซ้ำบนแพลตฟอร์ม

“สัญชาตญาณแรกของเธอไม่ได้แสดงถึงความเกรงขามหรือซาบซึ้งที่ได้เห็นสัตว์ชนิดนี้อยู่ในป่า แต่เป็นการรีบเข้าไปใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานั้นอย่างโลภมากเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะก่อให้เกิดบาดแผลทางใจกับสิ่งใดหรือใครก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเธอได้มาก ช่างน่าอายอย่างที่สุด”

“อินฟลูเอนเซอร์พวกนี้เป็นปรสิตที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้คนกดไลก์กดแชร์” ผู้ใช้รายหนึ่งกล่าว

คนอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า ในเมื่อโจนส์อ้างว่าเป็น “นักชีววิทยาสัตว์ป่า” เธอก็ควรจะรู้ดีกว่านี้ว่าควรทำตัวอย่างไร นอกจากนี้ยังมีชาวเน็ตอีกหลายคนที่เรียกร้องให้ทางการเนรเทศ ยกเลิกวีซ่าและสั่งห้ามเธอไม่ให้เดินทางมายังออสเตรเลียอีก ขณะที่ข้อมูลจากหน้าโซเชียลมีเดียของเธอบ่งชี้ว่า เธอโพสต์คอนเทนต์จากประเทศออสเตรเลียมาเกือบทั้งปี 2567 แต่ไม่มีความชัดเจนว่า เธอยังอยู่ในประเทศนี้หรือไม่

ขณะนี้ โจนส์ได้เปลี่ยนสถานะบัญชีอินสตาแกรมของเธอซึ่งแต่เดิมเป็นบัญชีสาธารณะซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 92,000 คน ให้เป็นบัญชีผู้ใช้แบบส่วนตัว ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา รวมทั้งตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกของเธอให้เป็นแบบส่วนตัวเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เธอจะลบคลิปวิดีโอดังกล่าว เธอได้เขียนตอบโต้คอมเมนต์บนอินสตาแกรมว่า “สำหรับทุกคนที่กังวลและไม่สบายใจ ลูกสัตว์ถูกอุ้มอย่างระมัดระวังเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นจึงปล่อยกลับไปหาแม่ของมัน”

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : YouTube / 10 News First