สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ว่า ปัจจุบัน ห้องนอนอบสมุนไพรของโรงพยาบาลแพทย์แผนกลุ่มชาติพันธุ์ไทแห่งสิบสองปันนา มักมีผู้เข้ามาใช้บริการจนเต็มอย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับการบำบัดจะถูกห่อหุ้มร่างกายด้วยสมุนไพรกลิ่นหอมเข้มข้น หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้ ผู้รับการบำบัดจะยังคงต้องปิดคลุมร่างกายด้วยผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ พร้อมดื่มเครื่องดื่มร้อนที่จัดเตรียมไว้ให้ แม้มีเหงื่อไหลไคลย้อย


หญิงแซ่สวีจากมณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ผู้ใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่ที่สิบสองปันนามานาน 2 เดือน เปิดเผยว่า เธอเข้ารับการบำบัดนี้ 6 ครั้งแล้ว และความรู้สึกหลังจากอบสมุนไพรเสร็จแต่ละครั้ง นอกจากผ่อนคลายสบายตัวทั้งร่างกายและจิตใจ มันยังช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับอีกด้วย


สวีกล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ เป็น “ผู้สูงวัยหนีหนาว” จากภาคเหนือ ที่รู้จักการบำบัดนี้จากการบอกต่อกัน โดยสมุนไพรที่ใช้อบถูกเก็บสดใหม่ในท้องถิ่น และแพทย์จะปรับสูตรสมุนไพรให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้รับการบำบัดแต่ละคน ซึ่งทำให้สวีรู้สึกดีและเตรียมบอกต่อญาติมิตรให้มาทดลอง


จ้าวอิงหง ผู้อำนวยการศูนย์ปรุงยาสมุนไพรแพทย์แผนกลุ่มชาติพันธุ์ไท ของโรงพยาบาลแห่งนี้ กล่าวว่า การบำบัดนี้ยึดทฤษฎี “ธาตุสี่ ขันธ์ห้า” ของแพทย์แผนกลุ่มชาติพันธุ์ไท ซึ่งเกิดจากการสั่งสมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดำรงชีวิต และการป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาอย่างยาวนาน


การบำบัดด้วยสมุนไพร “หน่วนหย่า” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท มีความโดดเด่นตรงกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เปิดเส้นลมปราณ และไล่ลมขจัดความชื้น สามารถทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดในบางกรณี การบำบัดนี้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ เมื่อปี 2544 และได้รับความสนใจจากคนรักสุขภาพเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน


ขั้นตอนการบำบัดเริ่มต้นด้วยแช่และนึ่งสมุนไพรตามสูตร ต่อจากนั้นกระจายสมุนไพรดังกล่าวลงบนเตียง และรอจนมีความร้อนระดับเหมาะสม ผู้รับการบำบัดลงนอนทับสมุนไพรและถูกเทสมุนไพรคลุมทั่วร่างกายอีกชั้นหนึ่ง ยกเว้นศีรษะ แล้วห่อด้วยผ้าสังเคราะห์ป้องกันการระบายอากาศ และผ้าห่มเก็บความร้อน โดยการบำบัดแต่ละครั้งใช้เวลาราว 30 นาที.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA