“ราชันโคขาว” ลำพูน วอริเออร์ ไอเดียสุดเก๋ ปลุกจิตสำนึกวิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่กำลังป่วนหนัก โดยเฉพาะเขตภาคเหนือ ด้วยการโชว์คอลเลกชั่นเสื้อ ลำพูน วอริเออร์ แจ้งเตือนค่าฝุ่น

เสื้อใหม่ลำพูน ในชื่อคอลเลกชั่น “The Air Pollution Jersey” หรือ “เสื้อบอลแจ้งค่าฝุ่น” เสื้อบอลแจ้งค่าฝุ่น ที่คิดมาจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ซึ่งจะมี 6 สี ไล่ตามค่าฝุ่น PM2.5 ทั้ง 6 ระดับ ให้นักเตะทีมลำพูน สวมใส่เดินลงสนาม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชุดแข่งจริง โดยจากสีเสื้อ 6 สี สีที่นักเตะลำพูนใส่นั้น จะดูตามค่าฝุ่น PM2.5 ของวันนั้น เป็นการเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง ใส่หน้ากากป้องกัน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ

ทั้ง 6 สีดังนี้

เสื้อสีเขียว อากาศดี – ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือมีเล็กน้อย ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

เสื้อสีเหลือง อากาศปานกลาง – อาจมีอาการส่งผลต่อทางเดินหายใจ กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เสื้อสีส้ม อากาศเริ่มแย่ – มีผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เสื้อสีแดง อากาศแย่ – มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหัวใจและปอดกำเริบ ควรจำกัดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เสื้อสีม่วง อากาศวิกฤติ – มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและสวมหน้ากากอนามัยกลางแจ้ง

เสื้อสีน้ำตาลแดง อากาศเป็นพิษ – เสี่ยงต่ออาการระคายเคืองและกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและอยู่ในบ้าน

ทั้งนี้ ลำพูน วอริเออร์ ประเดิมแคมเปญนี้ไปแล้ว ในเกมไทยลีกที่เปิดสนาม ลำพูน วอริเออร์ สเตเดี้ยม แพ้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 1-2 โดยได้สวมเสื้อสีแดงเดินลงสนาม หมายถึง “อากาศแย่”

สำหรับเสื้อแข่งนี้จะถูกสวมใส่ก่อนเริ่มเกมในแต่ละนัด เพื่อให้ผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้านรับรู้ถึงสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างหนักในช่วงต้นปี โดยเฉพาะจากปัญหาการเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และไอเสียจากยานพาหนะ

แคมเปญนี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า “นักฟุตบอล” เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งมากกว่าคนทั่วไป แม้ในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นจนเป็นอันตราย นักเตะยังคงต้องซ้อมและแข่งขันตามตาราง โดยไม่มีการเลื่อนการแข่งขัน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เหมือนอาชีพอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับมลพิษในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว รวมถึงประสิทธิภาพการเล่นในสนาม

ลำพูน วอริเออร์ ตั้งใจใช้แคมเปญนี้ เพื่อส่งเสียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 มากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น คือเรียกร้องให้มีการพิจารณาตารางแข่งขันในช่วงที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน และ ระยะยาว ผลักดันให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ฤดูกาลแข่งขันในอนาคตต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง.