สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการจับกุมเครือข่ายมิจฉาชีพที่หลอกลวงและฉ้อโกงเงินของประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัดของตุรกี สร้างความเสียหายกว่า 50 ล้านลีราตุรกี (ราว 44.5 ล้านบาท) โดยอาศัยแผนที่ขุมทรัพย์ที่ทำปลอมขึ้น

ตำรวจตุรกีตั้งปฏิบัติการที่ซับซ้อนเพื่อรวบตัวมิจฉาชีพกลุ่มนี้ได้สำเร็จในที่สุด รายงานข่าวระบุว่า แก๊งอาชญากรนี้มีผู้ร่วมงานหลายคนซึ่งจะถูกส่งไปยังพื้นที่ชนบทของตุรกีและแสดงแผนที่ขุมทรัพย์ที่ปลอมขึ้น เป็นลักษณะแผนที่วาดด้วยมือบนกระดาษที่ใช้เทคนิคทำให้ดูเก่า จากนั้นก็พูดล่อลวงว่าสามารถทำให้เหยื่อร่ำรวยได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน

ลายแทงหรือแผนที่ดังกล่าวมีรายละเอียดที่ดูน่าเชื่อถือ อีกทั้งระบุสถานที่ใกล้เคียงที่เหยื่อคุ้นเคย ผู้ต้องสงสัยจะอ้างว่าพวกเขามาจากต่างถิ่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่นั้นๆ มาก ทำให้พวกเขาไม่สะดวกที่จะเดินทางไปค้นหาพื้นที่ที่ซ่อนสมบัติไว้ตามลายแทง จึงต้องการเสนอขายแผนที่ให้ชาวบ้านแถวนั้น 

อย่างไรก็ตาม ตำรวจชี้ว่าขั้นตอนนี้เป็นเพียงครึ่งทางของกลลวงที่แยบยลของแก๊งมิจฉาชีพ

หลังจากที่ขายแผนที่ขุมทรัพย์ปลอมให้เหยื่อ มิจฉาชีพซึ่งรู้ดีว่า เหยื่อจะต้องอดไม่ได้ที่จะไปขุดตามจุดที่ระบุไว้ในแผนที่ เหยื่อจะพบขุมทรัพย์ปลอมที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตแล้วนำไปฝังไว้ก่อนหน้า

จากนั้น มิจฉาชีพจะติดต่อเหยื่ออีกครั้งเพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของการตามหาขุมทรัพย์ เมื่อเหยื่อที่ตื่นเต้นคุยโวว่าได้พบรูปปั้นและเหรียญทองตามจุดที่บอกไว้ในลายแทง แก๊งมิจฉาชีพก็จะเสนอตัวว่าสามารถติดต่อ “บาทหลวง” ที่สามารถตรวจสอบโบราณวัตถุเหล่านี้ได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่

ต่อมา บาทหลวงซึ่งก็เป็นหนึ่งในแก๊งมิจฉาชีพก็จะ “ตรวจสอบสมบัติ” ที่ขุดพบผ่านทางวิดีโอคอล และกล่าวว่าสมบัติเหล่านั้น “ประเมินค่าไม่ได้” แต่ในตุรกีนั้น การขายสมบัติโบราณมีความเสี่ยง เนื่องจากโบราณวัตถุเหล่านี้อาจมีมูลค่าทางวัฒนธรรมและอาจโดนรัฐยึดไว้ได้ 

มิจฉาชีพซึ่งปลอมตัวเป็นบาทหลวงก็จะอ้างกับเหยื่อว่า มีผู้ติดต่อในต่างประเทศที่ยินดีจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อโบราณวัตถุเหล่านี้ โดยเฉพาะชิ้นที่เป็นทองคำ ทั้งนี้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบางอย่างให้บาทหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม

เหยื่อส่วนใหญ่ที่กำลังสับสนมักจะหลงเชื่อและยอมจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้บาทหลวงเป็นการล่วงหน้า จากนั้น เมื่อเงินเข้าไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ พวกเขาก็จะตัดการติดต่อสื่อสารทั้งหมด ทิ้งโบราณวัตถุปลอมซึ่งทำจากโลหะทาสีทองไว้ที่เหยื่อ 

หลังจากแผนการของมิจฉาชีพแก๊งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากหลายครั้งหลายหน เหยื่อหลายรายก็เข้าแจ้งความกับตำรวจซึ่งเมื่อได้ยินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน ก็มีการเปิดการสืบสวนและติดตามตัวผู้นำกลุ่มจนพบที่เมืองตุนเจลี  จากนั้นก็ทำการจับกุมแก๊งต้มตุ๋นและผู้สมรู้ร่วมคิดหลายสิบคน พร้อมทั้งยึดหลักฐานได้เป็นจำนวนมาก

ที่มา : odditycentral.com

เครดิตภาพ : YouTube / ÜLKE TV