เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกา นัดพิจารณาคดีครั้งแรก (สอบคำให้การ) และตรวจหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

‘ปารีณา’ยันบริสุทธิ์-ปัดรุกป่าสงวน ทนายชี้ ‘ทวี’ความจำเสื่อม ส่งต่อให้ดูแลกิจการ

โดยวันนี้ น.ส.ปารีณา เดินทางมาพร้อมทนายความวันนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านสามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในขณะที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตามคำร้องได้หรือไม่

องค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เป็นหน้าที่ของสภาฯ การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งของ ส.ส. ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านยังเป็น ส.ส. แต่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้

ส่วนที่ผู้คัดค้าน ขอให้ศาลส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.ไต่สวนคดีนี้โดยไม่ผ่านมติกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฏร เป็นมติที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าข้อห้ามตามคำร้องไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ไม่ตัดอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะเสนอข้อเท็จจริง จึงยกคำร้องในส่วนนี้

ส่วนการนัดตรวจหลักฐาน ผู้ร้องขอส่งพยานหลักฐาน 58 อันดับ และขอนำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 12 ปาก ขณะที่ผู้คัดค้านขอส่งพยานหลักฐาน 18 อันดับ พร้อมขอไต่สวนพยานบุคคล 10 ปาก

ศาลสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วไม่โต้แย้ง องค์คณะฯเห็นควรให้ไต่สวนพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายแถลง ให้คู่ความทำบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงส่งให้ศาลไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยกำหนดนัดไต่สวนพยานวันที่ 8, 22, 28 ก.พ.65 และวันที่ 1-3, 8, 10 มี.ค.65 เวลา 09.30-16.30 น. และนัดพิพากษาวันที่ 7 เม.ย.65 เวลา 10.30 น.

ด้าน นายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ศาลวินิจฉัยคำร้องแรก ผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญได้ ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 139 บัญญัติว่า คณะกรรมการวิสามัญนั้น สภาสามารถตั้งส.ส.หรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่กรรมาธิการสามัญนั้น จะตั้งส.ส.เป็นกรรมาธิการสามัญไม่ได้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรตีความว่า กรรมธิการสามัญสามารถตั้งบุคคลภายนอกได้ และตั้งส.ส.ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนแรกที่ปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณ เมื่อปี 2562-63 ได้

นานทิวา กล่าวต่อว่า กรณีของ น.ส.ปารีณา สามารถเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้เช่นเดียวกัน และที่ผ่านมาไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นนี้ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าของน.ส.ปารีณา ในการปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการงบประมาณ ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปนี้ผู้ที่เป็นส.ส.ซึ่งถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการทั้งสามัญและวิสามัญ แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อความชัดเจน

ด้าน น.ส.ปารีณา กล่าวว่า เคารพการตัดสินใจของศาล ทั้งนี้ ถึงแม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังคงเป็น ส.ส. และปกติที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว.