เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่าเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามความในมาตรา 234 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำร้องนี้มีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สาธารณชนสนใจติดตามเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี คำร้องจึงได้สรุปข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ ป.ป.ช. ซึ่งควรทราบอยู่แล้ว โดยสาระสำคัญของหนังสือคือ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา แพทยสภาได้เผยแพร่ข่าวสำหรับสื่อมวลชน โดยสรุปความได้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติลงโทษแพทย์ 3 ท่าน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่เผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น กรณีดังกล่าว เริ่มจากการกระทำของเจ้าพนักงานในส่วนของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ปรากฏข้อเท็จจริงพอสรุปได้ว่า ผู้ต้องขังรายหนึ่งไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่กลับมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายนี้ ออกไปจากสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษเพียงคนเดียว เป็นเวลาประมาณ 180 วัน โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และขัดต่อ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งรัฐมนตรีต้องทราบตามความในกฎกระทรวงฯ ข้อ 7 (3)
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า อีกทั้งยังน่าเชื่อว่า การนำตัวผู้ต้องขังรายนี้ออกไปจากสถานที่คุมขัง โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ดังกล่าว คือ ไม่ได้มีการร้องขอให้ศาลซึ่งมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ตามความในมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากไม่พบข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หรือไม่ ดังนั้น หาก รมว.ยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลและติดตามข้อเท็จจริงของผู้ต้องขังรายนี้ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีและยังคงเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองที่สื่อมวลชนมีการติดตามและตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าได้ถูกจำคุกโดยหมายของศาลจริงหรือไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่แพทยสภาได้มีมติออกมาลงโทษแพทย์ 3 ราย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568 ก็ยังไม่พบว่า รมว.ยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจเข้าไปติดตามตรวจสอบว่า จำเลยได้มีการปฏิบัติตามตามกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของ รมว.ยุติธรรม ที่จะต้องรู้หรือควรรู้ว่า ผู้ต้องขังรายนี้ได้รับการบังคับให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และพ.ร.บราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 หรือไม่ แต่กลับไม่พบข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า รมว.ยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ต่อไปโดยเร็ว และขยายผลการตรวจสอบด้วยว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวทั้งในฐานะตัวการ ผู้ร่วม ผู้สนับสนุน หรือไม่ และบุคคลอื่นที่รู้เห็นหรือร่วมกระทำการจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่.