เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. เปิดเผยถึงยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ เพื่อแก้ปัญหาการลักสายไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เนื่องจากปัญหาการดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านบาท แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ไฟทางดับ ทางเท้ามืด เสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม

ล่าสุดตำรวจ สน.บางขุนเทียน สามารถจับกุมแก๊งคนร้ายตระเวนลักทรัพย์ตัดสายไฟฟ้านครหลวงจำนวน 3 คน บริเวณหน้าร้านอาหารบุฟเฟ่ต์แบบปิ้งย่าง ซอยเอกชัย 87/1 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพส่งตัวดำเนินคดี
ดังนั้นเพื่อรับมือกับภัยเงียบนี้ กทม. จึงเปิดยุทธการดังกล่าวขึ้น พร้อมระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่ของเมือง
โฆษก กทม. เปิดเผยต่อว่า จากสถิติการแจ้งความของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 ในปี 66 จำนวน 11 เรื่องการขโมยสายไฟฟ้า มูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท ปี 67 จำนวน 9 เรื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท และปี 68 แจ้งความจำนวน 5 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 4 ล้านบาท
ในส่วนสถิติการแจ้งความของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 2 ปี 66-68 จำนวน 15 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านบาท
ในส่วนสถิติการแจ้งความของกองควบคุมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ปี 67 จำนวน 3 เรื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ปี 67 จำนวน 1 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 1 ล้านบาท
โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ ปี 67-68 มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 2 คิดเป็นเงินกว่า 3.3 หมื่นบาท และโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑล 1 ช่วง 1 จำนวนเงินกว่า 3.1 หมื่นบาท
ส่วนการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยแนวทางป้องกันแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนี้
1.มาตรการทางเทคโนโลยีและกายภาพ เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอด LED และระบบ IoT พิจารณาใช้วัสดุอื่นทดแทนทองแดง เพื่อลดแรงจูงใจการโจรกรรม การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมโดยตรง การออกแบบที่เข้าถึงยาก รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสัญญาณเตือนภัย หรือรั้วไฟฟ้า (ในพื้นที่ที่เหมาะสม)
2.เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย และ 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุที่เข้าถึงง่าย หรือการให้รางวัลนำจับ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน สอดส่องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
“ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ ไม่ใช่แค่เรื่องของ กทม. แต่คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราใช้ทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และพลังของประชาชน เพื่อหยุดภัยเงียบนี้ให้ได้ หากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัย ขอให้แจ้งทันทีผ่านทางสายด่วน 1555 หรือ Traffy Fondue หรือแจ้งตำรวจ โทร. 191” โฆษก กทม. กล่าว