สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและส่งเสริมวิชาชีพทนายความในประเทศไทย โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ทนายความฯ นายกและกรรมการสภาทนายความที่ได้รับการเลือกตั้งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกสภาทนายความคนปัจจุบันจะหมดวาระในช่วงเดือน 14 ก.ย.นี้ สภาทนายความฯ จึงเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20-26 พ.ค.68 โดยมีผู้สมัครที่ถูกจับตามอง ดังนี้

ว่าที่ ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร (อดีตนายกสภาทนายความ) มาพร้อมนโยบายหลักเน้นการกอบกู้ศักดิ์ศรี และพัฒนาวิชาชีพทนายความ การช่วยเหลือสังคม และเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย

ว่าที่ ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ เผยว่า ทุกวันนี้อาชีพทนายความถูกสังคมจับตามอง มีทั้งชื่นชมและตำหนิตนจึงเล็งเห็นว่า ต้องเข้ามาช่วยผลักดันให้สังคมยอมรับอาชีพทนายความ ให้เป็นอาชีพอันดับต้นๆในประเทศให้ได้ และองค์กรสภาทนายความถือเป็นองค์กรวิชาชีพหลักที่สำคัญ

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความคนปัจจุบัน ชูนโยบายสานงานต่อ ก่องานใหม่ที่มุ่งเน้นการบริการจัดการองค์กร เพิ่มสวัสดิการทนายความ รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน

โดยดร.วิเชียร เผยว่า ที่ผ่านมาคงเห็นถึงความจริงจังและจริงใจที่ตนและทีมเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร ขอให้ได้กลับมาบริหารงานต่อ เพื่อช่วยเหลือทนายความด้วยกันและช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ขณะที่ ดร.ธนพล คงเจี้ยง (นายกสมาคมนิติศาสตรมหาบัณฑิตรามคำแหง) มีนโยบาย เน้นทำได้จริง เพิ่มการทำประกันกลุ่มและมีกองทุนสำหรับทนายความ รวมถึงการปรับแก้ พ.ร.บ.ทนายความฯให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน รวมทั้งงบประมาณ

โดย ดร.ธนพล ระบุ ตนรักวิชาชีพนี้มากและศรัทธาในวิชาชีพ พร้อมอาสามารับใช้ทนายความทั่วประเทศเพื่อให้องค์กรของพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่แบบเดิม ตนมองพี่น้องทนายความให้เป็นที่หนึ่ง ให้ทนายความต้องอิ่มก่อน ถึงจะไปช่วยเหลือประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม จากสถิติผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในปี 65 มีจำนวน 85,315 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 15,600 คน ในจำนวนนี้เป็นบัตรดี 14,670 ใบ บัตรเสีย 877 ใบ บัตรไม่ลงคะแนน 53 ใบ ซึ่งดร.วิเชียร ได้รับคะแนนสูงสุด จำนวน 9,103 คะแนน.