เมื่อวันที่ 28 พ.ค.68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการ เสวนาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปราชทัณฑ์ไทย 4 ภาค ประจำปี 68 พร้อมด้วยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมฯ ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ กองวิชาการและพัฒนานวัตกรรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการขึ้นเพื่อเป็นการเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อเสนอแนะ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการปฏิรูปราชทัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม และสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบงานราชทัณฑ์ ให้สอดคล้องกับหลักสากล คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการาคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการเสวนาจะเป็นการเปิดประเด็นในทุกมิติ เริ่มจากการมองทิศทางการพัฒนาราชทัณฑ์ไทย และเจาะลึกในประเด็น การควบคุมดูแล การบริหารโทษ มาตรการอื่นในการบริหารโทษ การสร้างความมั่นคงปลอดภัย พระราชบัญญัติซ้อมทรมานฯ การพัฒนาพฤตินิสัย สิทธิมนุษยชนผู้ต้องขัง การจัดการศึกษา การสร้างงานสร้างอาชีพ การส่งต่อสู่สังคมภายหลังพ้นโทษ ฯลฯ โดยรมว.ยุติธรรมร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการปฏิรูปราชทัณฑ์ไทย ในศตวรรษที่ 21” ภายในงาน “เสวนาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปราชทัณฑ์ไทยภาคกลาง ประจำปีงบประมาณ 2568” ภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนการปฏิรูปราชทัณฑ์ไทย Unlocking Corrections Reform : แลกเปลี่ยนสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” โดยมีรองศาสตราจารย์ พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการพิเศษฝ่ายประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อ.ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักวิชาการอาชญาวิทยา เข้าร่วมเสวนา และ ดร. ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

มีรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้พ.ต.อ.ทวีได้มอบนโยบายโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานยุติธรรมชุมชน ประจําปีงบประมาณ 68 โดยมี นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายโกมล พรมเพ็ง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสำรวม บุญเสริม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานยุติธรรมจังหวัด คณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 252 คน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม

ในโอกาสนี้ รมว.ยุติธรรมได้กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพบกับพี่น้องยุติธรรมชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความเป็นธรรมในระดับพื้นที่ โดยแนวคิดของ “ศูนย์ยุติธรรมชุมชน” เป็นแนวคิดที่มีการผลักดันมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และยังคงมีพลวัตในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีการประชุมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีนำประเด็นการใช้ “ชุมชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินงานมาโดยตลอด วันนี้จึงขอฝากแนวคิดไว้ 2 คำสำคัญ คือ หนึ่ง “ยุติธรรมชุมชน” และสอง คือ “หมู่บ้านยุติธรรม” โดยให้หมู่บ้านเป็นหน่วยปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากจุดเล็กที่สุด คือ คนในชุมชน เริ่มจากความรัก ความเข้าใจ และการสร้างคนที่มีศักยภาพ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน